ปัจจุบันการขนส่งผลไม้สดจากประเทศไทยไปสาธารณรัฐประชาชนจีน นอกเหนือจากขนส่งทางเรือ การขนส่งทางบกถือเป็นวิธีการขนส่งที่กำลังได้รับความนิยมของผู้ส่งออกไทยมากยิ่งขึ้น เพราะการขนส่งทางบกมีระยะเวลาสั้นกว่าทางเรือ ที่สำคัญทำให้ผลไม้ไทยมีคุณภาพและความสดยาวนานสามารถกระจายสินค้าไปยังตลาดตามมณฑลต่างๆ ของจีนได้อย่างรวดเร็ว
ก่อนหน้านี้ทางการจีนกำหนดว่า ประเทศที่ไม่มีพรมแดนติดกับจีนหากประสงค์จะขนส่งผลไม้ผ่านเส้นทางทางบก จะต้องจัดทำความตกลงในรูปแบบพิธีสาร ซึ่งรัฐบาลไทยและจีนได้ลงนามพิธีสารว่าด้วยการขนส่งผลไม้สดจากไทยไปจีนผ่านประเทศที่ 3 มาตั้งแต่ปี 2552 แต่สามารถนำเข้าได้เพียง 2 ด่าน คือทางตอนใต้ของจีน ซึ่งใช้เส้นทางถนนเส้น R3A ในการขนส่งทางบก ได้แก่ ด่านโม่หาน มณฑลยูนนาน และด่านโหย่วอี้กว่าน เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เท่านั้น
อย่างไรก็ตามตลอดหลายปีที่ผ่านมา ปริมาณการขนส่งผลไม้สดจากไทยไปจีนผ่านเส้นทางบกขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ว่าที่ผ่านมาจะเกิดปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณหน้าด่านโหย่วอี้หว่าน ส่งผลให้รถขนส่งสินค้าติดอยู่ที่บริเวณชายแดนจีนเป็นเวลานานหลายวัน ทำให้สินค้าผลไม้สดเสียหาย โดยเฉพาะทุเรียนไทยที่ส่งไปจีนเสียหายอย่างหนัก
ทางสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)พยายามเข้าไปการแก้ปัญหาดังกล่าวเพื่อให้การส่งออกผลไม้ไทยไปจีนราบรื่น ล่าสุด มกอช. ได้เสนอร่างพิธีสารการส่งออกผลไม้ไปจีนโดยทางบกฉบับใหม่ ซึ่งระบุให้จีนเพิ่มด่านนำเข้าผลไม้จากไทยในการขนส่งผลไม้ให้ฝ่ายจีนพิจารณา โดยฝ่ายจีนตอบรับข้อเสนอในร่างพิธีสารดังกล่าว พร้อมแจ้งว่านอกจากด่านตงซิงแล้วยังมีด่านรถไฟผิงเสียงสามารถใช้ในการขนส่งได้เช่นกัน ไทยจึงได้ผนวกด่านรถไฟผิงเสียงเข้าไปในรายชื่อด่านที่ต้องการให้ฝ่ายจีนเปิดเพิ่มด้วย
เดิมทั้งสองฝ่ายมีกำหนดลงนามได้ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 แต่ทั้งจีนและไทยกลับต้องมาพบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้พิธีลงนามต้องเลื่อนออกไป และจีนได้จำกัดด่านนำเข้าสินค้าระหว่างชายแดนจีนและเวียดนามเพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เกิดปัญหาสินค้าผลไม้สดของไทยและเวียดนามต้องถูกขนส่งเข้าจีนผ่านด่านเดียวกัน ทำให้ไทยเสียเปรียบเพราะเวียดนามใช้มาตรการขนส่งแต่สินค้าของเวียดนามเองก่อน ทำให้สินค้าผลไม้ไทยต้องรอคิวที่ด่านจนเกิดผลกระทบต่อคุณภาพของสินค้า
ดันผิงเสียง-ตงซิ่ง ตลาดศูนย์กลางกระจายสินค้าแห่งใหม่
นับเป็นข่าวดีของเกษตรกรและผู้ส่งออกของไทยเป็นอย่างยิ่ง ซึ่ง ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการ มกอช. บอกว่า หลังจากกรมวิชาการเกษตร และมกอช. ได้เจรจากับกระทรวงศุลกากรของจีน (GACC) เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยทางการจีนเห็นชอบให้ผลไม้ไทยสามารถนำเข้าได้ที่ด่านตงซิง และด่านรถไฟผิงเสียง
รวมทั้งให้บรรจุลงในร่างพิธีสารฉบับใหม่ ซึ่งนับเป็นก้าวกระโดดที่สำคัญต่อการส่งออกผลไม้ไปจีน เนื่องจากเป็นการเปิดให้รถผลไม้จากไทยสามารถใช้เส้นทางใดก็ได้ในการขนส่ง และเพิ่มจำนวนด่านที่อนุญาตให้ส่งออกและนำเข้า โดยด่านฝ่ายไทย ได้แก่ ด่านตรวจพืชเชียงของ ด่านตรวจพืชบึงกาฬ ด่านตรวจพืชนครพนม ด่านตรวจพืชมุกดาหาร และจุดผ่อนปรนบ้านผักกาดของจังหวัดจันทบุรี ส่วนด่านฝ่ายจีน ได้แก่ ด่านโม่หัน ด่านโหย่วอี้กวน ด่านตงซิง และด่านรถไฟผิงเสียง ถือเป็นการปลดล็อคเรื่องเส้นทางและด่านนำเข้าที่เคยเป็นข้อจำกัดในการขนส่งของทั้งสองฝ่ายมาโดยตลอด
ด่านตงซิง ตั้งอยู่ที่เมืองตงซิง อำเภอฝังเฉิงกั่ง เขตกว่างซีจ้วง ของจีน อยู่ห่างจาก ด่านหม่งไก๋ จังหวัดกว๋างนิญของเวียดนาม เพียง 100 เมตร โดยได้รับอนุญาตให้เป็นด่านนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศเป็นแห่งที่ 2 ของเขตกว่างซีจ้วง ต่อจากด่านโหย่วอี้กวน สามารถรองรับรถสินค้าเข้าออกได้ไม่ต่ำกว่า 2,000 คันต่อวัน จึงเป็นด่านที่มีศักยภาพในการนำเข้าผลไม้จากไทย
ด่านรถไฟผิงเสียง ตั้งอยู่ที่เมืองผิงเสียง เขตกว่างซีจ้วง ของจีน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากด่านหย่วอี้กวน เป็นด่านรถไฟเพียงแห่งเดียวของเขตกว่างซีจ้วง ที่ได้รับอนุญาตให้เป็นด่านนำเข้าผลไม้ ซึ่งตู้สินค้าผลไม้ไทยที่ขนส่งทางรถยนต์สามารถเปลี่ยนมาขนส่งโดยรถไฟเพื่อเข้าสู่จีนได้ที่สถานีรถไฟด่งดัง ดังนั้นการอนุญาตให้นำเข้าผลไม้ไทยผ่านด่านดังกล่าวของจีน นับเป็นการพลิกโฉมรูปแบบการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน จากเดิมที่มีเพียงทางรถยนต์ ทางเรือ และทางอากาศเท่านั้น จึงเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้ส่งออกไทย
จุดเด่นขนส่งทางบกช่วยกระจายสินค้าทั่วทุกมณฑลจีน
ในระยะเวลาที่ผ่านมาการส่งออกผลไม้ไทยไปจีนทางบกผ่านลาวและเวียดนามเข้าสู่จีน ที่ด่านหย่วอี้กวนขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาหลักคือรถติดสะสมหน้าด่านโหย่วอี้กวน เป็นประจำในช่วงฤดูกาลส่งออกผลไม้ไทยและเวียดนาม ทำให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เห็นว่าการนำเข้าผ่านด่านโหย่วอี้กวนเพียงแห่งเดียวอาจไม่เพียงพอ จึงได้เร่งเจรจา “ร่างพิธีสารการขนส่งผลไม้ไปจีนทางบก” ฉบับใหม่ร่วมกับฝ่ายจีนมาอย่างต่อเนื่อง แต่จีนและไทยกลับต้องมาพบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้พิธีลงนามต้องเลื่อนออกไป โดยทางการจีนอนุญาตส่งสินค้าผ่านด่านรถไฟผิงเสียง-ตงซิน ไปก่อน ซึ่งนับเป็นความช่วยเหลือของมหามิตรในยามยาก และทั้งสองฝ่ายจะกลับมาลงนามระหว่างรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศอีกครั้งเมื่อเหตุการณ์โรคระบาดสงบลงแล้ว
ปัจจุบันด่านตงซิง ดร.จูอะดี ยืนยันว่าได้รับการพัฒนาและยกระดับให้สามารถนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศได้ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้พร้อม รองรับการตรวจสอบผลไม้ที่จะนำเข้าจากต่างประเทศ โดยรัฐบาลได้จัดเตรียมพื้นที่สำหรับรองรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ได้ถึง 2,000 คันต่อวัน รวมทั้งนำระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ เพื่อให้การตรวจปล่อยสินค้าเป็นไปได้อย่างสะดวกและรวดเร็วเสร็จสมบูรณ์พร้อมรองรับการขนส่งแล้ว
“ในปี 2561 มีปริมาณการส่งออกผลไม้จากไทยไปจีนโดยเส้นทางขนส่งทางบกราว 664,000 ตัน โดยมีปริมาณเพิ่มขึ้นกว่า 321,000 ตัน เมื่อเทียบกับปี 2560 ที่มีปริมาณการส่งออกราว 343,000 ตัน คิดเป็นปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 90 โดยในปี 2561 มีมูลค่าส่งออกกว่า 25,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วทุกปี”
การที่ทางการจีนเปิดด่านรถไฟผงเสียง-ตงซิง เป็นมาตรการในการรองรับอัตราการเติบโตของตลาดสินค้าผลไม้สดและสินค้าเกษตรจากไทยไปจีน เนี่องจากเป็นศูนย์กลางสามารถกระจายสินค้าไปทั่วทุกมณฑลของจีนได้อย่างสะดวกสบายมากกว่าในอดีต จึงกลายเป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการไทยส่งสินค้าไปเจาะตลาดแดนมังกรที่มีอนาคตสดใส
อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่คลุกคลีในแวดวงขนส่งจะทราบดีว่า ด้วยทางถนนที่ขนส่งไปประเทศจีน นั้นเกิดเป็นต้นทุนแฝงมากมาย อาทิ ค่าจอดตามสถานี ค่าผ่านทาง และล่าสุดเนื่องจากมาตรการด้านโควิด-19 ของ สปป.ลาวที่คุมเข็มไม่ให้คนไทยผ่านด่าน
ด้วยเหตุนี้ธุรกิจขนส่งยังมีต้นทุนค่าจ้างพนักงานขับรถบรรทุกคนลาวเพิ่มไปด้วยเพื่อขับรถบรรทุกไปส่งยังด่านชายแดนซึ่งยังหากใช้เส้น R9 เส้นมุกดาหาร ผ่านสะหวันนะเขตของลาว ด่านสะหวัน/ลาวบ๋าว ฮาดิน ถั่นหวา และฮานอยของเวียดนาม ไปเข้าจีนทางด่านโหยวอี้กวาน หรือเส้น R8 หนองคาย – ด่านปากซัน – แยกน้ำทอน – ด่านน้ำพาว – ด่านเกาแจว – วินห์ – ฮานอย – ด่านโหยวอี้กวาน และ R12 (นครพนม- คำม่วน – ด่านนาพาว – ด่านจาลอ – วินห์ – ฮานอย – ด่านโหยวอี้กวาน) ก็ยังต้องผ่านด่าน สปป.ลาวอยู่ดี
ซึ่งเดิมการขนส่งผลไม้ใช้เส้นทาง R3A และ R9 ขณะที่อีก 2 เส้นทางยังไม่ได้รับความนิยมมากนักเพราะบางพื้นที่ชำรุดอยู่ระหว่างก่อสร้าง แต่หากการก่อสร้างเส้นทางแล้วเสร็จครบทุกเส้นก็จะเป็นทางเลือกให้ผู้ประกอบการขนส่งได้บริหารจัดการการขนส่งผลไม้ได้ดีขึ้น
cr : BangkokBankSME