ไอเดียธุรกิจ เปลี่ยนขยะเปลือกหอยเป็น “ปูนธรรมชาติ” สร้างรายได้
การเริ่มต้นทำธุรกิจใดๆก็ตาม ต้องมีเป้าหมายว่าธุรกิจนั้นจะทำเพื่ออะไร เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ตนและครอบครัว เพื่อช่วยเหลือสังคม หรือเพื่อกำจัดปัญหาบางอย่าง ซึ่งบางครั้งไอเดียธุรกิจดีๆอาจเกิดจากสิ่งไร้ค่าอย่างขยะ และเมื่อผ่านกระบวนการแปรรูปแล้วสามารถสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนได้จำนวนหลายครัวเรือน อีกทั้งยังเป็นการกำจัดปัญหาขยะที่คนอื่นละเลยได้ดีวิธีหนึ่ง อย่างเช่น “ปูนซีเมนต์ธรรมชาติจากเปลือกหอยแครง” ที่เป็นไอเดียธุรกิจจากขยะแต่สามารถสร้างรายได้และกำจัดปัญหาขยะเปลือกหอยแครงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จุดเริ่มต้นของปูนซีเมนต์ธรรมชาตินี้เกิดจาก “ผศ.สรชา ไววรกิจ” อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ที่ได้เล็งเห็นปัญหาขยะเปลือกหอยแครงของชุมชนคลองโคน จังหวัดสมุทรสงคราม จำนวนมากกว่า 10,000 ตันต่อปี ปัญหานี้นับวันยิ่งรุนแรงและถูกละเลยมากยิ่งขึ้น มีเศษเปลือกหอยถูกเหยียบย่ำบริเวณถนนทำให้ดูไม่สะอาด มีกองเปลือกหอยแครงจำนวนหลายล้านตัว อีกทั้งยังส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งไปทั่ว แต่ปัญหานี้ก็ไม่ได้รับการแก้ไข เพราะว่าชาวบ้านในชุมชนมองว่าปัญหาเหล่านี้เป็นผลกระทบจากการประกอบอาชีพคู่ชุมชนมานานหลายสิบปี จนสะสมกลายเป็นความเคยชิน
ที่มาของซากเปลือกหอยเหล่านี้เกิดจากการตายตามธรรมชาติของหอยแครง โดยในระยะ 3 เดือนแรกที่เลี้ยงหอยนั้นจะตายประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ และใน 2-3 เดือนต่อมาจะตายเพิ่มขึ้นอีก 60 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนที่เหลือ ทำให้มีซากเปลือกหอยทับถมกันจำนวนมาก
จากปัญหาที่เกิดขึ้นและนอกจากตนเองจะเป็นอาจารย์แล้วยังเป็นสถาปนิกด้วย คุณสรชาจึงได้ไอเดียธุรกิจในการสร้างมูลค่าจากเปลือกหอยเหล่านี้ให้กลายเป็นงานสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนทั้งเป็นรายได้หลักและรายได้เสริม โดยการใช้คุณสมบัติเฉพาะของเปลือกหอยที่มีองค์ประกอบเป็นแคลเซียมมากถึง 99.98 เปอร์เซ็นต์มาแปรรูปเปลือกหอยเหล่านี้ให้กลายเป็นปูนซีเมนต์ธรรมชาติ ที่ไม่มีการผสมสารเคมีใดๆทั้งสิ้น
กระบวนการแปรรูปเปลือกหอยให้กลายเป็นปูนซีเมนต์ธรรมชาติมีดังนี้
- นำขยะเปลือกหอยแครงมาเผาในอุณหภูมิที่พอเหมาะ แล้วตำให้ละเอียดจนกลายเป็นผง
- เมื่อได้ผงเปลือกหอยแล้วให้นำผงดินและขุยมะพร้าวมาผสม ซึ่งเป็นวัตถุดิบผสมในปูนซีเมนต์ธรรมชาติ เพราะเมื่อผงเปลือกหอยได้ผ่านการเผาตั้งแต่ 5 นาทีขึ้นไปแล้วจะมีผลต่อการยึดเกาะระหว่างอนุภาค ผงดินจะช่วย
ในการขึ้นรูปทรงของปูนและช่วยให้การยึดเกาะของแต่ละอนุภาคสามารถยึดเกาะกันได้ดียิ่งขึ้น ส่วนผงขุยมะพร้าวช่วยลดน้ำหนักของวัสดุ ทำให้ปูนมีน้ำหนักเบาขึ้น ซึ่งอัตราส่วนผสมคือ 2 ต่อ 1 ต่อ 1 ต่อ 0.5 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ผ่านการวิจัยมาแล้วว่าสามารถตอบสนองการใช้งานตกแต่งได้เหมาะสมทั้งเรื่องของความแข็งแรง ความทนทาน และน้ำหนัก
หลังจากได้ผลสำเร็จของปูนซีเมนต์ธรรมชาติแล้ว คุณสรชาได้ถ่ายทอดวิชาความรู้และกระบวนการผลิตให้แก่ชาวบ้านในชุมชนทำให้ชาวบ้านสามารถสร้างรายได้ได้เพิ่มมากขึ้น มีกระบวนการผลิตที่เป็นขั้นตอนและส่งเสริมความร่วมมือกันของคนในชุมชนได้อย่างดีเยี่ยม
ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ที่มีจำหน่ายตอนนี้ ตัวอย่างเช่น แผ่นพื้นทางเดิน วัสดุตกแต่งผนัง กรอบนาฬิกา กรอบโคมไฟ ซึ่งการใช้ปูนซีเมนต์ธรรมชาติจากเปลือกหอยแครงนี้สามารถลดต้นทุนได้ 280 บาท เมื่อเทียบกับการใช้ปูนซีเมนต์มาตรฐาน ดังนั้น ปูนซีเมนต์ธรรมชาติจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในการผลิตของตกแต่งบ้านจากปูนไม่น้อย
แผนงานล่าสุดของชาวคลองโคนคือการผลิตและพัฒนาชุดตกแต่งบ้าน DIY (Do it yourself) เป็นกล่องขนาดเล็ก ภายในบรรจุแม่พิมพ์ ซิลิโคน ลายดอกไม้ต่างๆ ผงปูนซีเมนต์ธรรมชาติ และสี เพื่อให้ผู้ที่สนใจการตกแต่งบ้านได้ลองประยุกต์สร้างการตกแต่งแบบใหม่ๆด้วยตนเอง ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ และการพัฒนาให้เป็นแบรนด์สินค้าหนึ่งของชาวคลองโคนต่อไป
ข้อมูลติดต่อปูนซีเมนต์ธรรมชาติ
เบอร์โทรศัพท์ : 081-5821886
ขอขอบคุณรูปภาพจาก SMEs ผู้จัดการ