อีคอมเมิร์ซ เป็นสิ่งที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตผู้คนเป็นอย่างมาก โดยการแทรกแซงนี้เกิดขึ้นทั่วโลกและการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นเกือบทุกวินาทีเลยก็ว่าได้ ซึ่งสิ่งสำคัญของการปรับตัวคือ การเรียนรู้และพยายามเข้าใจสิ่งเหล่านี้อยู่สม่ำเสมอ เพื่อนำไปประยุกต์ ปรับใช้ให้เกิดข้อได้เปรียบในการทำธุรกิจในยุคปัจจุบันให้ได้มากที่สุด
นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com วิทยากรในงานสัมมนา “E-Commerce Trends 2020” ที่จัดโดยธนาคารกรุงเทพ ณ สำนักงานใหญ่ สีลม เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ให้ทัศนะสำหรับ 12 เทรนด์อีคอมเมิร์ซที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ไว้อย่างน่าสนใจ โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. JSL Marketplace เริ่มทำรายได้ในปีนี้
การเริ่มต้นทำตลาดของกลุ่ม JSL ( JD CENTRAL, Shopee และ Lazada ) มีการใช้งบประมาณทุ่มตลาด ยอมขาดทุนต่อเนื่องยาวนาน โดยเฉพาะการใช้กลยุทธ์ฟรีค่าบริการ ค่าธรรมเนียม แจกโปรโมชัน มีส่วนลด จนมีฐานลูกค้าเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต่อไปจะเป็นการพลิกเกมเปลี่ยนมาเรียกเก็บค่าบริการ เช่น ค่าขนส่ง ค่าบริการงานโฆษณาในช่วงเวลาต่างๆ ปีนี้จึงเป็นปีทองของกลุ่ม JD CENTRAL, Shopee และ Lazada ที่จะกอบโกยเงินกลับมา หลังจากยอมทุบตลาดมานาน
2. แข่งกันดึงเงินลงกระเป๋าในสงคราม E-Wallet
กระเป๋าเงินแบบพกพา หรือ E-Wallet กลายเป็นที่หมายตาของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ และธนาคาร เพราะเปรียบเสมือนช่องทางระดมเงินทุนที่สามารถนำไปใช้หมุนเวียนในกิจการ หรือการลงทุนต่างๆ ได้ จากตัวเลขรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า ในปี พ.ศ.2561 มีปริมาณการใช้งาน 1,510.84 ล้านรายการ คิดเป็นมูลค่า 209 พันล้านบาท และไตรมาสแรกของปี พ.ศ.2562 มีการใช้งาน E-Money 473.27 ล้านรายการ คิดเป็นมูลค่า 67 พันล้านบาท จากกลยุทธ์การเดินเกมทางการตลาดที่เข้ามากระตุ้นให้เกิดการใช้ E-Wallet มากขึ้นของผู้ให้บริการ เหล่านี้
- Pure Wallet ได้แก่ True Money, Rabbit Line Pay (mPay), XCash, Dolfin, Blue Pay
- E-Commerce Wallet ได้แก่ Lazada Wallet, Airpay (Shopee), Grab Pay, Get Pay
- Bank Wallet ได้แก่ ธนาคารทุกธนาคาร
- Mobile Device Wallet ได้แก่ Samsung Pay
ซึ่งกลยุทธ์ E-Wallet นั้นไม่ได้มีแค่ระดมเงินทุนจากมือคนอื่นมาไว้ในกระเป๋าเงินตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการเก็บเกี่ยวข้อมูลมหาศาลจากการใช้งานของผู้บริโภคมาวิเคราะห์ต่อยอดทางการตลาดของตัวเองได้อีกด้วย
3. แข่งกันส่งสินค้าในสงคราม E-Logistic
ปัจจุบันธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าเติบโตควบคู่ไปกับการค้าขายออนไลน์ จนมีมูลค่าตลาดสูงถึง 6.6 หมื่นล้านบาทในปี 2562 จึงมีผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างประเทศเข้ามาแชร์ส่วนแบ่งทางการตลาดหลายราย เช่น Kerry Express ที่เริ่มขยายจุดให้บริการมากถึง 10,000 สาขาในปัจจุบัน เน้นส่งเร็ว ให้บริการดี จนตีขึ้นมาเป็นเบอร์สองของวงการขนส่งไทย และทำรายได้ต่ำกว่าไปรษณีย์ไทยเพียง 2% ในปี 2561
นอกจากนี้ยังมีเบอร์รองที่พร้อมเติบโตสยายปีกเทียบรุ่นเก๋าอีกมากมาย อาทิเช่น Nim Express, DHL, SCG Express, Lalamove, J&T Express การแข่งขันในธุรกิจการขนส่งจึงดุเดือดพอๆ กับการทำธุรกรรมการค้าออนไลน์ และยังคงมีคู่แข่งหน้าใหม่พร้อมรุกเดินเกมแชร์ส่วนแบ่งทางการตลาดได้ตลอดเวลา
4. ปีแห่งการเติบโต ของบริการเก็บ-แพ็ค-ส่งสินค้า (Fulfillment)
การเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซทำให้หลายธุรกิจที่เกี่ยวข้องเติบโตไปด้วย ทั้งด้าน E-logistics และ E-wallet ซึ่งเมื่อจำนวนออร์เดอร์เพิ่มสูงขึ้น การที่ผู้ขายต้องมาจัดการเรื่องการแพ็คสินค้า จัดส่ง และทำสต๊อกสินค้าเอง อาจมีค่าบริหารจัดการ และเสียเวลามาก
การเรียกใช้บริการ Fulfillment ที่เกิดมาเพื่อเอื้อต่อความสะดวก และประหยัดต้นทุนให้แก่ผู้ขายในการดูแลสต๊อกสินค้า การแพ็คบรรจุ และการจัดส่ง ทำให้ผู้ขายไม่ต้องจ้างแรงงานเพิ่มเติมมาจัดการส่วนนี้ ซึ่งมาร์เก็ตเพลสเองก็เริ่มเปิดให้บริการ Fulfillment รองรับร้านค้าบนแพลตฟอร์มของตนเอง เพื่ออำนวยความสะดวก และรองรับการเติบโตของตลาดที่เพิ่มขึ้นด้วย
5. Brand กระโดดสู่ตลาดออนไลน์อย่างต่อเนื่อง
การที่แพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลสต่างๆ เปิดพื้นที่ห้างออนไลน์บนแพลตฟอร์มตนเองขึ้นมา ก็เป็นการเปิดโอกาสให้แบรนด์เข้ามาทำตลาดออนไลน์แบบปลีกย่อยแข่งกับดีลเลอร์ของตัวเองมากขึ้น
เนื่องจากเป็นผู้ผลิตตั้งต้นจึงทำราคาและส่วนลดได้ง่าย ปรากฏการณ์นี้เป็นสิ่งที่เริ่มเกิดขึ้น และคาดว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นนี้ต่อไป เพราะนอกจากผลกำไรที่แบรนด์ทำได้ดีจากการขายตรงแล้ว ยังมีข้อมูลผู้บริโภคที่แบรนด์จะได้รับเพื่อนำมาใช้ทำการตลาด หรือต่อยอดผลิตภัณฑ์ต่อไปอีกด้วย การเข้ามาถล่มตลาดขายตรงของแบรนด์ จึงทำให้ดีลเลอร์ทำตลาดได้ยาก
นี่จึงนับว่าเป็นสัญญาณอันตรายสำหรับธุรกิจที่เคยเป็นตัวกลางต่างๆเพราะอาจเกิดปัญหาความขัดแย้งของช่องทางการค้าปลีกย่อย (Sub-Channel Conflict) เมื่อแบรนด์ที่เคยเป็นลูกค้า เคยส่งสินค้าให้กลับกลายมาเป็นคนขายสินค้าแข่งกับตัวแทนเหล่านี้เสียเอง ซึ่งอีกไม่นานพ่อค้าคนกลางหรือตัวแทนขายอาจค่อยๆ ถูกกลืนหายออกไปจากระบบโดยอัตโนมัติ
6. การค้าข้ามประเทศ Cross Border เติบโตแบบก้าวกระโดด
ด้วยความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนราคาสินค้าที่เข้ามาตีตลาดอีคอมเมิร์ซไทยของกลุ่มผู้ผลิตสินค้าต่างชาติอย่างประเทศจีน จากสถิติตัวเลขอ้างอิงพบว่ามีสินค้าจากประเทศจีนอยู่ใน Marketplace 3 เจ้าดังของไทย มากกว่า 77% หรือประมาณ 135 ล้านชิ้น จากจำนวนคนขายเพียง 81,000 ราย เมื่อเทียบกับผู้ค้าออนไลน์ไทยพบว่า มีจำนวนผู้ขายสินค้าออนไลน์สูงถึง 1 ล้านราย จากจำนวนสินค้าทั้งหมด 23% คิดเป็นสินค้าประมาณ 40 ล้านชิ้น
นั่นเป็นค่าตัวเลขที่บอกได้ว่า ตลาด E-Commerce ไทยกำลังโดนผู้ค้าต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีนกระหน่ำแบบถล่มทลายเป็นกองทัพสินค้า ไม่ใช่แค่การค้าปลีกธรรมดาทั่วไปแบบผู้ค้าออนไลน์ไทย และเนื่องจากสินค้าจีนมีต้นทุนการจัดการด้านแรงงานต่ำ จึงสามารถกระหน่ำรุกตีแย่งชิงพื้นที่ขายจากผู้ขายออนไลน์ไทยที่ขายสินค้าแบบเดียวกัน เพราะมีราคาต่อชิ้นต่ำกว่าเป็นเท่าตัว
นอกจากนี้ผู้ค้าข้ามประเทศอย่างจีนยังมีการปรับตัวเรื่องการจัดส่งสินค้าโดยพัฒนาจากที่เคยใช้เวลารอสินค้าเกือบเดือน ก็เริ่มปรับจนสั้นลงเหลือ 7-14 วัน นี่จึงเป็นการแข่งขันที่น่ากลัวหากสินค้าจีนเข้ามาแทนที่สินค้าทุกหมวดที่ผู้ค้าออนไลน์ไทยขายอยู่
เป็นไปได้ว่าสินค้าในแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลสของคนไทยจะหายไป เหลือแต่สินค้าจีนที่ครองตลาดเพราะราคาถูกกว่า ในขณะที่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มก็จำต้องหากลยุทธ์ต่างๆ มาดึงลูกค้าไว้ในแพลตฟอร์มตัวเองจากการสร้างความหลากหลายทั้งสินค้าจากไทยและต่างประเทศไว้ให้ลูกค้า จึงยากที่จะเบรกการกระหน่ำเทสินค้าจากจีนที่ถูกกว่าสินค้าไทยในหลายรายการได้
7. Social Commerce โตทะลุ พร้อมโฆษณาทาง Social Ads
จากความนิยมขายสินค้าออนไลน์ผ่านช่องทางโซเชียลแพลตฟอร์มต่างๆ ทำให้เกิดมูลค่าทางการตลาดในส่วนของการค้าปลีกและส่งในประเทศสูงถึง 322,894.16 ล้านบาท มากกว่าอีมาร์เก็ตเพลสที่มีมูลค่าเพียง 102,408.49 ล้านบาทในปี 2560 ซึ่งมูลค่าตัวเลขเหล่านี้มาจากการ Live สด และโฆษณาบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ
สื่อโซเชียลกลายเป็นเทรนด์การตลาดที่ผู้ประกอบการทั้งใหม่และเก่าให้ความสนใจ เพราะเกิดการซื้อขายได้ง่าย โดยต้นทุนไม่สูงเกินไป ดังนั้น สื่อโซเชียลมีเดียเหล่านี้จึงพัฒนาฟีเจอร์อีคอมเมิร์ซขึ้นมาให้บริการอย่างเต็มรูปแบบบนแพลตฟอร์มของตัวเอง เช่น การเพิ่มช่องการจำหน่ายสินค้า การชำระค่าบริการ การยิงแอดโฆษณาเพื่อกระตุ้นและส่งเสริมการซื้อ-ขายให้มากขึ้น จนเกิด “นักยิงแอด” ขึ้นมาเป็นอาชีพใหม่บนโซเชียลมีเดีย
8. Live & Conversation Commerce การค้าแบบไลฟ์สด และแชท
หลังเปิดตัว Live Streaming ฟีเจอร์ไลฟ์สดบน Facebook ก็ได้รับความนิยมจากผู้ใช้บริการอย่างล้นหลาม และกลายเป็นช่องทางอันทรงประสิทธิภาพในการนำมาไลฟ์ขายของผ่าน Video streaming เพราะสามารถเข้าถึงผู้ติดตามได้ทันที และโต้ตอบสื่อสารกับผู้ซื้อได้ จนทำให้หลายแพลตฟอร์มบนมาร์เก็ตเพลสหันมาพัฒนาฟีเจอร์ไลฟ์สดเพื่อจับเทรนด์คนชอบไลฟ์ขายของ โดยการไลฟ์ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียที่ประสบความสำเร็จจนเรียกเงินเข้ากระเป๋าผู้ค้าออนไลน์เป็นหลักล้านมาแล้ว
9. ข้อมูล E-Commerce นำไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ได้อีกมากมาย
ธุรกิจอีคอมเมิร์ซนั้นจัดเป็นช่องทางจัดเก็บข้อมูลลูกค้าได้อย่างง่ายดาย จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เข้ามาใช้บริการสินค้าหรือบริการบนแพลตฟอร์มของตัวเอง จนเกิดเป็นฐานข้อมูลแบบ Big data ที่นำไปต่อยอดธุรกิจได้อีกมากมายไม่จบสิ้น
10. ยุครุ่งโรจน์ของ E-Commerce เฉพาะทาง (Vertical E-Commerce)
การเลือกทำอีคอมเมิร์ซแบบเฉพาะทาง หรือ Verticle E-Commrece เพื่อขายสินค้าเฉพาะกลุ่มหรือเฉพาะด้านแบบลงลึกในแนวดิ่ง เปรียบเสมือนผู้เชี่ยวชาญในเรื่องสินค้านั้นๆ กลายเป็นทางเลือกที่ให้ผลดีในการทำตลาดอีคอมเมิร์ซ ที่ไม่ต้องไปชนกับมาร์เก็ตเพลสยักษ์ใหญ่ให้เจ็บตัว และเริ่มกลายเป็นเทรนด์การขายสินค้าที่มีแนวโน้มว่าจะได้รับความนิยมมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีโมเดลรูปแบบใหม่จากจีนคือ การทำตลาดแบบใช้ดีแล้วบอกต่อ หรือแชร์ต่อๆ กันไป เมื่อมีการซื้อเกิดขึ้น ผู้แชร์จะได้รับคอมมิชชั่น ซึ่งเป็นช่องทางที่เริ่มนิยมมากขึ้น
11. Omni Channel ทุกช่องทางประสานด้วยกัน
การเชื่อมต่อประสาน Offline หรือหน้าร้าน กับ Online เข้าไว้ด้วยกันแบบไร้รอยต่อ กลายเป็นการตลาดที่ได้ผลดี เป็นเทรนด์ที่ลูกค้าให้การตอบรับจนเริ่มกลายเป็นกระแสนิยมทำให้หลายธุรกิจนำมาปรับใช้ เพราะเป็นวิธีการตลาดแบบครบวงจร ที่สร้างความประทับใจในการช้อปปิ้งให้แก่ลูกค้าผู้มาใช้บริการจนเกิดการซื้อซ้ำได้ดีกว่าการตลาดแบบ 1 way หรือ 2 way เพราะลูกค้าสามารถเข้าไปเลือกดูสินค้าบน Online เปรียบเทียบราคากับที่อื่นจากข้อมูลในระบบ ก่อนตัดสินใจสั่งซื้อสินค้า ชำระเงิน และประสานกับทางร้านสาขาผ่านระบบแอดมินเพื่อเข้าไปรับสินค้าได้เลย
12. กฎหมายดิจิตอล จะมาแบบครบชุด
ปี 2020 นี้กฎหมายเกี่ยวกับการทำธุรกรรมอีคอมเมิร์ซมาแน่นอนแบบยกชุด ทั้ง
- พ.ร.บ. ภาษีอีเพย์เมนต์
- พ.ร.บ. ภาษี E-Business (On Process)
- พ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
- พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
- พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
- พ.ร.บ. ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
ซึ่งข้อกฎหมายเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการออนไลน์ต้องเร่งเรียนรู้ และปรับตัวรับมือให้ทัน เพื่อให้การทำธุรกรรมเป็นไปอย่างถูกต้อง ปลอดภัย ไม่ผิดข้อกฎหมาย