3 ปัจจัยความเจ็บปวดของ SME ไทย

จากภาพรวมเอสเอ็มอีที่มีกำไรต่อเนื่อง 3 ปี มีแค่ 8% และการกระจายตัวอยู่ตามภาคการผลิต ภาคบริการ ภาคการค้า หากเจาะลึกจริงๆ แล้วความเจ็บปวดที่เอสเอ็มอีต้องเจอและทำให้เอสเอ็มอีเวียนว่ายตายเกิดอยู่เรื่อยๆ ไม่สามารถโตได้นั้น มี 3 L คือ

1. เข้าถึงสินเชื่อต่ำ (Lower Financial Access) ถ้าเราดูงบบริษัทของเอสเอ็มอีจำนวน 350,000 ราย เทียบกับบริษัทรายใหญ่ที่มีจำนวน 30,000 ราย (มีรายได้มากกว่า 50% ของรายรับของบริษัทต่อปี) แต่เอสเอ็มอี 350,000 ราย มีทั้งบริษัทที่ดีและไม่ดีรวมอยู่ตรงนี้ทั้งหมด กลุ่มนี้เข้าถึงสินเชื่อหรือแหล่งเงินทุนได้น้อยกว่าบริษัทรายใหญ่ที่มี 30,000 ราย ต่างกัน 3 เท่า ปัจจุบันสัดส่วนหนี้ต่อทุน (D/E) ของเอสเอ็มอีเฉลี่ยอยู่ที่ 0.4 เท่า ถ้ามีทุน 100 เข้าถึงหนี้ได้ 40 บาท แต่บริษัทใหญ่มีทุน 100 บาท เข้าถึงหนี้ได้ 120 บาท

“พอเอสเอ็มอีเข้าไม่ถึงแหล่งทุน จึงเป็นหนึ่งในอุปสรรคของเอสเอ็มอี เมื่อเข้าไม่ถึงแหล่งทุนในการมาขยายกิจการ มาสร้างกำลังการผลิตไม่ได้”

2. หมุนเงินไม่ทัน (Longer Conversion Cycle) เอสเอ็มอียิ่งเล็กกำลังการต่อรองยิ่งต่ำกับยี่ปั๊วซาปั๊ว โดยเฉพาะการโดนดึงเทอมการค้านานๆ ตรงนี้กระทบสภาพคล่องของกิจการมาก ค่าเฉลี่ยบริษัทรายใหญ่ 40 วันเขาเปลี่ยนจากสินค้าเป็นเงินได้แล้ว สิ่งที่เราดูเรียกว่า Cash Conversion Cycle คือจำนวนวันที่มีสินค้าคงคลังบวกกับจำนวนวันที่ขายไปแล้วแต่ยังเก็บเงินไม่ได้ เป็นลูกหนี้การค้าอยู่ แล้วหักด้วยเจ้าหนี้การค้าของเขาที่ต้องจ่ายออกไป สรุปแล้วการเก็บเงินเป็นกี่วันต่อรอบ 1 การผลิตของเขาต่อหนึ่งชิ้น ผลที่ออกมาเฉลี่ย 60 วัน ถ้าไปดูบางอุตสาหกรรมที่แย่มาก อาจจะยาวนานไปถึง 90 วัน หากขายให้กับโมเดิร์นเทรด ไฮเปอร์เทรด เขายืดเทอมการค้าเป็น 3 เดือน ขณะที่เอสเอ็มอีเขาต้องการสภาพคล่อง

3. อีกอันที่ทำให้เอสเอ็มอีลำบาก คือมีสินทรัพย์ถาวรหรือ Fixed Assets น้อย ถามว่าทำไมถึงสำคัญ กล่าวคือ การเติบโตของเอสเอ็มอีจะมีโมเดลการโตแบบหนึ่ง สตาร์ทอัปจะมีโมเดลการโตอีกแบบหนึ่ง ตอนนี้มีการพูดสตาร์ทอัปบ่อย พูดไปพูดมาจะกลายเป็นผสมๆ กันกับเอสเอ็มอี แต่จริงๆ สิ่งที่เรามองคือเอสเอ็มอีกับสตาร์ทอัปไม่เหมือนกัน มีความต้องการไม่เหมือนกัน ต้องแยกจากกันให้ชัด เพราะแต่ละประเภทมีความต้องการไม่เหมือนกัน ฉะนั้น โมเดลการเติบโตไม่เหมือนกัน

กรณีเอสเอ็มอี เขามีสินทรัพย์ถาวร ที่แบงก์เรียกว่า Core Assets คืออะไรที่เป็นหลักประกันได้ อย่างเช่น ที่ดิน อาคาร เครื่องจักร เอสเอ็มอีมีน้อยมาก ขณะที่ธุรกิจรายใหญ่จำนวน 30,000 ราย จะมี Core Assets ถึง 30% ของสินทรัพย์รวม แต่เอสเอ็มอีมีแค่ 20% แปลว่าช่องว่าง 10% ตรงนี้เอาไปเป็นหลักประกันไม่ได้ แล้วพอหลักประกันไม่พอ จะกลับไปเข้าสินเชื่อไม่ได้

“มันก็เป็นปัญหาไก่กับไข่ อันแรกเข้าไม่ถึงสินเชื่อ อันที่สองไม่มีหลักประกัน อันที่ 3 ขายของแต่ได้เงินช้า ไม่มีสภาพคล่องอีก โดนไป 3 เด้ง”

จริงๆ เรื่องของหลักประกันสินทรัพย์ถาวร ต้องชมรัฐบาล ทำกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ทำให้ลูกหนี้การค้าที่มีเทอมยาวๆ ที่ยังเก็บเงินไม่ได้ สามารถเอาลูกหนี้การค้า สินค้าคงคลัง เครื่องจักรบางตัว มาเป็นหลักประกันได้ มันจะทำให้การเข้าถึงสินเชื่อดีขึ้น  นี่คือปัญหา 3 ข้อที่เอสเอ็มอีปัจจุบันต้องเจอ

ขอบคุณข้อมูลจาก : thaipublica.org และ TMB Analytics

แสดงความคิดเห็น


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *