จากปัญหาเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศที่เกิดการชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่าปัญหานี้ส่งผลกระทบกับทุกภาคฝ่ายไม่ว่าจะเป็นลูกจ้าง นายจ้าง ผู้ประกอบการรายเล็กหรือรายใหญ่ก็ตาม แล้วทำอย่างไรผู้ประกอบการถึงจะรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนี้ได้
1. เช็กกระแสเงินสดอย่างใกล้ชิด
ในช่วงเศรษฐกิจขาลงความมั่นคงทางการเงินของธุรกิจเป็นเรื่องสำคัญ ผู้ประกอบการควรตรวจสอบรายได้และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง รวมถึงสถานการณ์ทางการเงินของธุรกิจ และเพื่อมั่นใจว่ามีกระแสเงินสดเพียงพอที่จะฝ่าช่วงนี้ไป จึงควรทำประมาณการกระแสเงินสดของธุรกิจล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือน
2. ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
ประหยัดในสิ่งที่ควรประหยัด โดยการจัดลำดับความสำคัญ และเริ่มจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ และต้องอย่าลืมที่จะสื่อสารให้พนักงานในองค์กรเข้าใจและเห็นถึงความจําเป็นเพื่อร่วมมือกันประหยัด ที่สำคัญต้องกลับไปดูการบริหารจัดการต้นทุนในการผลิตให้ดี ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ ลองสำรวจดูว่าสินค้าตัวไหนที่ต้นทุนสูงแต่ขายไม่ดี ดูแล้วไม่เหมาะกับการขายในช่วงนี้ อาจยกเลิกการผลิตไปก่อนก็ได้
3. มีเงินทุนสำรอง
เผื่อไว้ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด การเก็บเงินสำรองฉุกเฉินจะช่วยเสริมสภาพคล่องของธุรกิจยามฉุกเฉิน เพราะในเวลานั้นหากไม่มีเงินสำรองและหาเงินไม่ทัน อาจทำให้ธุรกิจสะดุดได้
4. บริหารสต็อกสินค้า
ช่วงเวลาที่เศรษฐกิจชะลอตัวแบบนี้ ควรเช็กสินค้าในสต็อกอย่างสม่ำเสมอ และระบายสินค้าในสต็อกออกไป โดยอาจจะใช้โปรโมชัน ลด แลก แจก แถม การขายของไปแล้วได้เงินสดมาถือไว้ในมือย่อมอุ่นใจกว่า
5. หมั่นติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจ
เพื่อการเตรียมความพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้ทันการณ์ และมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่อาจจะมาพร้อมวิกฤต เพื่อที่จะได้ไม่พลาดในการลงทุน
⋙ โดยทั้ง 5 ข้อนี้ถือเป็นการป้องกันปัญหาในระดับหนึ่งเท่านั้น ทั้งนี้เมื่อผู้ประกอบการเจอปัญหาแล้วหาทางออกไม่ได้ อาจจะหาที่ปรึกษามาช่วยหรือศึกษาหาความรู้ในเรื่องต่างๆให้มากขึ้น เพื่อรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะยาว