สำหรับกระแสโลก เรามีโอกาสได้เห็นผลงานหรือผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจากการทำงานข้ามศาสตร์สาขามากมาย ไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายที่ไม่สร้างขยะแม้แต่ชิ้นเดียว อย่างเช่นผลงาน Soapack ขวดบรรจุน้ำมันมะพร้าวที่จะค่อยๆ ละลายไปตามการใช้งานเหมือนสบู่ โดย หมี่ โจว (Mi Zhou) นวัตกรรุ่นใหม่จากเซ็นทรัลเซนต์มาร์ตินส์ ประเทศอังกฤษ หรือการสร้างผลงานจากของเสียขึ้นใหม่ อย่างที่ปรากฏในผลงาน Bolt Threads ที่นักออกแบบนำไมซีเลียมเห็ดมาเพาะเซลล์ในแปลงและขึ้นรูปเป็นแผ่นหนังเพื่อให้ธุรกิจแฟชั่นนำไปต่อยอดเป็นสินค้าอื่นอย่างกระเป๋า วัสดุนี้จึงเป็นอีกทางเลือกที่แบรนด์ใหญ่อย่าง Adidas หรือ Stella McCartney เลือกใช้
การทำงานข้ามศาสตร์ที่หยิบจับเอาความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรมมาใช้เป็นต้นทุน โดยอาศัยกลไกวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูงนี้ ไม่ได้เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศเท่านั้น แต่ประเทศไทยก็มีศักยภาพมากมายที่สามารถทำเช่นนี้ได้ไม่แพ้กัน
พลวัติที่เรากำลังพูดถึงนี้คือส่วนหนึ่งของการพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า BCG Economic Model นโยบายระดับชาติที่จะมีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยอย่างยั่งยืนในอนาคต (BCG in Action : The New Sustainable Growth Engine) โดยจะเชื่อมโยงกับการจ้างงานมากถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนการจ้างงานรวมในประเทศ และครอบคลุมอุตสาหกรรม 4 สาขา คือ 1) สาขาเกษตรและอาหาร 2) สุขภาพและการแพทย์ 3) พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และ 4) การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งทั้งหมดนี้มีศักยภาพในการเพิ่มมูลค่าตลาดเป็น 4.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 24 ของจีดีพีภายในปี 2025 ที่จะถึงนี้
BCG Economy คือการพัฒนา 3 เศรษฐกิจหลัก อันได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งมีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ อาทิ การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การอนุรักษ์ความหลากหลาย ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ฯลฯ อีกทั้งยังสอดรับกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นหลักสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยด้วย
B = เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เป็นการนำความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาพัฒนาต่อยอดจากฐานความเข้มแข็งเดิม นั่นก็คือ ทรัพยากรชีวภาพ หรือผลผลิตทางการเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า เช่น การพัฒนาพันธุ์ข้าว ที่มีธาตุอาหารสูง เป็นต้น
C = เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การนำทรัพยากรมาใช้ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่าที่สุด ที่สำคัญคือการมุ่งไปที่ ZERO WASTE หรือการลดปริมาณของเสียให้น้อยลงหรือเท่ากับศูนย์ ด้วยการปรับกระบวนการผลิต เช่น การเปลี่ยนของเสียจากการผลิต
G = เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหามลพิษและลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้เอนไซม์จากจุลินทรีย์เพื่อการฟอกกระดาษ การใช้สารชีวภัณฑ์กำจัดแมลงศัตรูพืชทดแทนการใช้สารเคมี ฯลฯ
BCG Economic Model คือวิธีการเปลี่ยนรูปแบบจากการ “ผลิตมากแต่สร้างรายได้น้อย” ไปสู่การผลิตสินค้าพรีเมี่ยมที่ “ผลิตน้อยแต่สร้างรายได้มาก”
ในปัจจุบันอุตสาหกรรมทั้ง 4 สาขาข้างต้นถือเป็นกำลังหลักในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ ซึ่งเมื่อปรับใช้ BCG Economic Model เข้ามาเป็นอาวุธจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มได้ในหลากหลายมิติ
- การเกษตรและอาหาร: การปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรทั้งระบบจะช่วยเพิ่มจีดีพีของภาคการเกษตรได้สูงขึ้นเป็น 1.7 ล้านล้านบาท ผ่านการเพิ่มความหลากหลายของผลผลิต การใช้เทคโนโลยีสนับสนุนด้านการวิเคราะห์ความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยให้การผลิตมีความแม่นยำสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ลดของเสียเหลือทิ้ง สามารถตรวจสอบและติดตามผลผลิตได้แบบเรียลไทม์ ยกระดับมาตรฐานและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ เพิ่มโอกาสในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารสำหรับแต่ละช่วงวัย รวมถึงการพัฒนาสารประกอบมูลค่าสูง (Functional Ingredient)
- สุขภาพและการแพทย์ : ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งรัดการพัฒนาขีดความสามารถด้านการสร้างนวัตกรรม ยา วัคซีน ยาชีววัตถุ อุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงการวิจัยทางคลินิกและการบริหารจัดการข้อมูลวิทยาศาสตร์การแพทย์ และรองรับการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์เพื่อลดการนำเข้า โดยให้ความสำคัญกับนโยบายป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพ (Preventive Medicine) มากกว่านโยบายด้านการรักษา การขยายบริการด้านสุขภาพไปสู่การให้บริการทางการแพทย์เฉพาะบุคคล (Precision Medicine) ด้วยการใช้ประโยชน์จากข้อมูลพันธุกรรม รวมถึงการสร้างแพลตฟอร์มการวิจัยทางคลินิกของประเทศ ที่สอดประสานการทำงานกับฝ่ายกำกับดูแลของรัฐ ด้วยแนวทางเช่นนี้ รัฐบาลไทยจะสามารถเพิ่มมูลค่าจีดีพีในหมวดนี้ได้มากถึง 90,000 ล้านบาท
- พลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ: กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่ารวมกันประมาณ 9.5 หมื่นล้านบาทนี้จัดเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพการเติบโตสูงจากนโยบายภาครัฐที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงาน ทดแทนเป็นร้อยละ 30 ในปี พ.ศ.2579 ผ่านการนำของเสียกลับมาใช้ใหม่ในรูปของแหล่งพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทดแทน (Renewable Energy) อันได้แก่ การผลิตเชื้อเพลิงจากขยะและก๊าซชีวภาพ การมีโรงไฟฟ้าชุมชนที่ใช้แหล่งพลังงานทดแทนจากในพื้นที่ เช่น พลังงานจากแสงอาทิตย์ ชีวมวล (รวมขยะ) และก๊าซชีวภาพ โดยโรงไฟฟ้าชุมชนนี้สามารถสร้างรายได้จากการขายไฟฟ้าผ่านการเชื่อมต่อระบบด้วย smart microgrid และใช้เทคโนโลยี blockchain เป็นแพลตฟอร์มในการบริหารจัดการ
- การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์: การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้และความคิดสร้างสรรค์เชื่อมโยงกับทุนทางปัญญา ทุนทางวัฒนธรรม และทุนจากความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อรังสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการรูปแบบใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง สามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ดีขึ้น ซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจใน 3 สาขายุทธศาสตร์ข้างต้นสามารถจะเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวผ่านระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้ อาทิ การสร้างประสบการณ์ใหม่ให้นักท่องเที่ยวผ่านการท่องเที่ยวเชิงอาหารไทย การท่องเที่ยวเชิงกีฬา การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่เน้นการแพทย์แผนไทย การท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงเกษตร ฯลฯ