Dropship คืออะไร รู้จักกับการขายของรูปแบบใหม่ ไม่ต้องใช้เงินทุน
มีศัพท์ใหม่ที่กำลังมาแรงในวงการอาชีพ และหลายคนกำลังให้ความสนใจอย่างมากกับคำที่ถูกเรียกว่า Dropship ซึ่งเป็นรูปแบบการค้าขายแบบใหม่ ที่ไม่จำเป็นต้องมีเงินลงทุนเยอะแยะมากมาย เนื่องจากเป็นการค้าขายแบบไม่ต้องสต๊อคสินค้า ทำให้ไม่ต้องใช้เงินลงทุนในเรื่องของการรับสินค้ามาสต๊อคไว้เพื่อรอจำหน่ายแต่อย่างใด คล้ายกับการขายที่เรียกว่าตัวแทน และมีความน่าสนใจอย่างมาก โดยครั้งนี้ทางเราก็ได้รวบรวมรายละเอียดมาให้แล้ว เพื่อแนะแนวให้ผู้ที่สนใจ
นิยามของ Dropship
Dropship คือการขายของในลักษณะของตัวกลาง คล้ายกับตัวแทนหรือนายหน้า เป็นการนำสินค้าจากโรงงานมาจำหน่ายให้กับผู้บริโภคในราคาที่ตัวเองเป็นผู้กำหนด เปรียบเสมือนการติดต่อไปยังโรงงานว่าต้องการจะขายสินค้าให้ในราคาเท่าไร หรือในอัตราส่วนแบ่งเท่าไร จากนั้นตัวกลางที่ทำการ Dropship จะนำสินค้านั้นไปเสนอให้กับผู้บริโภคด้วยตนเอง ซึ่งมีการกำหนดราคาขายไว้และมีส่วนต่างกับราคาต้นทุนเพื่อสร้างกำไรเป็นรายได้ให้ตนเอง
การ Dropship สินค้ามีความน่าสนใจที่สำคัญคือการไม่ต้องสต๊อคสินค้า อาศัยเป็นตัวแทนรับคำสั่งซื้อมาแล้วส่งข้อมูลการสั่งซื้อไปยังผู้ผลิตอีกทีหนึ่ง หลังจากนั้นก็ยังไม่ต้องรับผิดชอบเรื่องขนส่งด้วย เพราะจะมีผู้รับผิดชอบในส่วนนี้ที่เรียกว่า Dropshipper ทำหน้าที่จัดส่งสินค้าให้กับผู้บริโภคเอง อาศัยข้อมูลที่ตัวกลางส่งให้ เช่น ชื่อและที่อยู่ผู้รับสินค้า ส่วนเรื่องของเงินที่ได้จากผู้บริโภคจะจ่ายให้กับตัวกลางและตัวกลางนำมาจ่ายให้กับแบรนด์อีกทีในอัตราที่ตกลงกันไว้ ซึ่งตัวกลางจะหักส่วนต่างเก็บไว้เพื่อเป็นรายได้ของตนเอง
Dropship จะต้องทำอย่างไรบ้าง?
ตามที่กล่าวมาในข้างต้นหลายคนอาจนึกภาพว่า Dropship จะต้องทำการติดต่อกับผู้ผลิตและทำการหาสินค้าไปตระเวนขายเหมือนเซลล์ แต่ในความเป็นจริงแล้วการ Dropship ง่ายกว่านั้น โดยในปัจจุบันมีเว็บไซต์บางเว็บเปิดรับสมัครสำหรับ Dropship โดยเฉพาะและทำการเก็บค่าสมัคร 500 บาท (จากการสำรวจเบื้องต้น อาจแตกต่างกันออกไปในแต่ละเว็บไซต์) ซึ่งเว็บไซต์เหล่านั้นจะรวบรวมไว้ซึ่งข้อมูลและรูปภาพสินค้าให้ตัวกลางที่ทำการ Dropship สามารถเข้าไปเซฟรูปภาพและรายละเอียดต่างๆ มาโพสต์ขายได้ผ่านเว็บไซต์ของตัวเองหรือโซเชียลฯ ของตัวเองได้ รวมถึงขายผ่านเว็บไซต์ต่างประเทศ อาทิ ebay, amazon และอื่น ๆ ได้ด้วย
โครงสร้างของ Dropship ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง?
- Seller (ผู้ขาย) คือผู้ขายสินค้าผ่านระบบ Dropship ซึ่งมีหน้าที่หาสินค้าไปวางขายหน้าร้าน โดยหน้าร้านในที่นี้ก็คือเว็บไซต์หรือบัญชีโซเชียลฯ ของผู้ขายเอง
- Customers (ลูกค้า) คือผู้ซื้อสินค้าหรือผู้บริโภคสินค้า ที่เข้ามาเลือกมาเลือกซื้อเลือกหาสินค้าผ่านผู้ขาย อาจมีการซักถามในข้อสงสัยต่างๆ ผู้ขายจะต้องตอบคำถามให้ได้และมีเนื้อหาครบถ้วน
- Shop Online (ร้านค้าออนไลน์) คือหน้าร้านของผู้ขายที่จะปรากฎตัวสินค้าในรูปแบบของภาพและข้อมูลรายละเอียด อาจเป็นเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดียฯ
- Dropshipper (คลังสินค้า) คือผู้ให้บริการ Dropship เปรียบเสมือนคลังสินค้า โดยจะทำการจัดส่งสินค้าให้ลูกค้าในนามของผู้ขาย
ขั้นตอนการค้าขายแบบ Dropship
- STEP 1 : ผู้ขายทำการสมัครบริการ Dropship กับผู้ให้บริการ
- STEP 2 : ผู้ขายทำการหาสินค้าไปวางขายบนหน้าร้าน (เว็บไซต์, Facebook, Instagram และอื่นๆ ของตัวเอง)
- STEP 3 : ลูกค้าสั่งซื้อสินค้าผ่านผู้ขาย พร้อมชำระเงินในอัตราที่ผู้ขายกำหนด
- STEP 4 : ผู้ขายสั่งสินค้าพร้อมชำระเงิน
- STEP 5 : Dropshipper ทำการจัดส่งสินค้าให้ลูกค้าในนามร้านค้าของผู้ขาย
ข้อดีของการค้าขายแบบ Dropship
- ลดความเสี่ยงเนื่องจากไม่ต้องในเงินทุนในการสต๊อคสินค้า ไม่เสี่ยงกับต้นทุนจมและไม่ต้องเสี่ยงกับการขายสินค้าไม่ได้
- เหมาะกับผู้มีเงินทุนน้อย หรือไม่จำเป็นต้องมีเงินทุนมาก
- ไม่ต้องส่งสินค้าเอง โดย Dropshipper จะทำการส่งสินค้าให้
- สามารถสะสมฐานลูกค้าได้มากขึ้นเรื่อยๆ เป็นผลดีต่อการทำธุรกิจในอนาคต
ข้อเสียของการค้าขายแบบ Dropship
- ไม่มีความยั่งยืน เรื่องจากเป็นการขายสินค้าให้คนอื่น ไม่มีสินค้าเป็นของตนเอง
- จำนวนคู่แข่งเพิ่มขึ้นได้ง่าย เนื่องจากแทบไม่ต้องใช้เงินทุนและเริ่มต้นได้ง่าย แบบที่ใครหลายๆ คนก็สามารถเริ่มต้นธุรกิจได้เช่นกัน
- ต้องตรวจเช็คคุณภาพสินค้าให้ดี และต้องคัดสรรสินค้าที่มีตัวตนจริง หากตรวจเช็คไม่ดีเกิดปัญหาขึ้นมาและ Dropshipper ไม่สามารถส่งสินค้าให้ลูกค้าได้ ร้านเราเองจะได้รับผลกระทบโดยตรง ร้านค้าของเราเองจะเสียเครดิต
โมเดลธุรกิจ
ตัวอย่างเว็บไซต์ให้บริการ Dropship
- www.oberlo.com
- www.worldwidebrands.com
- www.salehoo.com
- www.alibaba.com
- www.sunrisewholesalemerchandise.com
- www.wholesale2b.com
ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องราวของการค้าขายแบบ Dropship ซึ่งเกี่ยวกับการขายของผ่านออนไลน์ แบบไม่ต้องสต๊อคสินค้า ทำให้แทบไม่ต้องใช้เงินลงทุนเลย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังมีความเสี่ยงในบางกรณีที่ผู้ขายเองจะต้องทำความเข้าใจให้ดีก่อนลงมือปฏิบัติจริง
ขอขอบคุณรูปภาพจาก : Cebuana Lhuillier, PYMNTS.com, Ecommerce Weekly, Awesome Dynamic