Indoor farming ปลูกพืชยุคใหม่ ไทยพร้อมหรือยัง?

“อีไอซีประเมินว่า การเกษตรในร่ม หรือ Indoor farming เป็นหนึ่งในเทรนด์สำคัญของภาคการเกษตรที่ค่อยๆมีบทบาทในเชิงพาณิชย์มากขึ้นในไทย โดยการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการรายใหม่ๆ รวมถึงเทรนด์การให้ความสำคัญกับความปลอดภัยด้านอาหารและการตรวจสอบย้อนกลับของผู้บริโภค เป็นปัจจัยหนุนการเติบโตของการเกษตรแบบ Indoor farming ในไทย”

“การเกษตรในร่ม” หรือ “Indoor farming” เป็นรูปแบบการเกษตรภายในโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้าง ที่มีการควบคุมสภาพแวดล้อมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของพืช เช่น อุณหภูมิ แสงแดด ความชื้น ปริมาณน้ำ ปุ๋ย เป็นต้น ซึ่งมีรูปแบบการเพาะปลูกพืชที่หลากหลาย โดยสามารถจำแนกได้ตามระบบการเพาะปลูกและโครงสร้าง อุปกรณ์ที่ใช้ในการเพาะปลูก

รูปที่ 1 : รูปแบบของ Indoor farming

Indoor farming เป็นรูปแบบการเกษตรที่ช่วยประหยัดการใช้ทรัพยากร ทั้งน้ำ ปุ๋ย พื้นที่เพาะปลูก และแรงงาน รวมถึงยังสามารถควบคุมปริมาณและคุณภาพผลผลิตได้ตามที่ต้องการ จึงช่วยลดความผันผวนในด้านปริมาณและคุณภาพของผลผลิตได้ดีกว่าการเกษตรแบบดั้งเดิม อย่างไรก็ดี การเกษตรแบบ Indoor farming ต้องใช้เงินลงทุนสูงกว่าการเกษตรดั้งเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลงทุนระบบและเทคโนโลยีการเพาะปลูก ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่ทำการเกษตรแบบ Indoor farming ส่วนใหญ่เลือกเพาะปลูกพืชที่ให้กำไรสูงและสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในระยะเวลาสั้น เพื่อเพิ่มความถี่ในการเก็บเกี่ยวผลผลิต และขายสู่ตลาดได้หลายรอบ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า กลุ่มธุรกิจที่ให้บริการ Solution ด้าน Indoor farming เป็นธุรกิจสนับสนุนที่มีบทบาทสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการระบบแสง ระบบการให้น้ำ ระบบปรับสภาวะอากาศ ไปจนถึงระบบควบคุมแบบอัตโนมัติและเซ็นเซอร์ต่างๆ โดยปัจจุบัน ผู้นำในกลุ่มธุรกิจที่ให้บริการ Solution ด้าน Indoor farming ในตลาดโลก ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย แคนาดา และในแถบยุโรป อย่างเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และเยอรมนี

โดยปัจจัยขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีด้าน Indoor farming ในประเทศเหล่านี้มาจากข้อจำกัดด้านภูมิอากาศที่หนาวเย็น ไม่เหมาะสมในการเพาะปลูกผักและผลไม้บางชนิด รวมถึงระยะทางการขนส่งผักและผลไม้จากแหล่งเพาะปลูกไปยังร้านค้าที่มีระยะไกล ก่อให้เกิดการเน่าเสียของผักและผลไม้ระหว่างการขนส่ง ส่งผลให้เกิดการมุ่งพัฒนาระบบการเพาะปลูกพืชที่สามารถเพาะปลูกที่ใดก็ได้ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

Indoor farming เป็นหนึ่งในเทรนด์สำคัญของภาคการเกษตรที่ต้องจับตา โดยในแต่ละภูมิภาคของโลกมีรูปแบบการเกษตรแบบ Indoor farming และลักษณะตลาดผู้บริโภคที่แตกต่างกัน ในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ส่วนใหญ่เป็นการเพาะปลูกพืชในโรงเรือน และการเพาะปลูกพืชแนวตั้ง โดยพืชที่เพาะปลูกส่วนใหญ่เป็นผักใบเขียว ไมโครกรีน สมุนไพร ดอกไม้ และมะเขือเทศ ทั้งนี้สินค้าเกษตรแบบ Indoor farming ในสหรัฐอเมริกาและยุโรปมีตลาดผู้บริโภครองรับเป็นอย่างดี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นร้านอาหารและครัวเรือนที่ต้องการวัตถุดิบกลุ่มผักและผลไม้ปลอดสารพิษ อีกทั้งยังนิยมเลือกซื้อวัตถุดิบในท้องถิ่นที่เพาะปลูกใกล้กับร้านอาหารหรือบ้านเรือนของตนเองเนื่องจากใช้ระยะเวลาการขนส่งไม่นาน และยังสามารถคงสารอาหารและความสดใหม่ไว้ได้

สำหรับในแถบเอเชีย ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการเพาะปลูกพืชแนวตั้งอย่างแพร่หลาย รวมถึงมีการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติต่างๆมาใช้ในกระบวนการเพาะปลูกไปจนถึงการเก็บเกี่ยว โดยพืชที่เพาะปลูกส่วนใหญ่เป็นผักกาดหอม และผักสลัด สำหรับตลาดผู้บริโภคสินค้าเกษตรแบบ Indoor farming ในญี่ปุ่น เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ และยินดีที่จะซื้อผักและผลไม้ปลอดสารพิษแม้ว่าราคาจะสูงกว่าผักและผลไม้ทั่วไปก็ตามในส่วนของจีน เป็นประเทศที่มีการพัฒนาการเกษตรแบบ Indoor farming อย่างรุดหน้า โดยได้ก่อสร้างโรงงานปลูกพืช (Plant factory) ขนาดใหญ่ ที่มีการใช้ระบบแสงจากไฟ LED และพลังงานแสงอาทิตย์ในหลายพื้นที่ เช่น ปักกิ่ง เทียนจิน เหลียวหนิง ชานตง เจียงซูเป็นต้น เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของตลาดผู้บริโภคที่เป็นฐานประชากรกลุ่มใหญ่และมีความต้องการอาหารที่เติบโตขึ้นทุกขณะ

ตัวเลขการระดมเงินทุนที่มีมูลค่าสูง และความเคลื่อนไหวอย่างคึกคักของ Startup ในกลุ่มธุรกิจการเกษตรแบบ Indoor farming สะท้อนถึงความน่าสนใจของตลาด ที่ยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมากในอนาคต โดย Startup ส่วนใหญ่มีสัญชาติสหรัฐอเมริกา ยกตัวอย่างเช่น Plenty ที่ทำธุรกิจการเพาะปลูกพืช แนวตั้ง สามารถระดมเงินทุนได้สูงถึง 226 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการระดมทุนเพียง 3 รอบ ในระยะเวลา 2 ปี

นอกจากนี้ AeroFarms ซึ่งเป็นธุรกิจอาคารเพาะปลูกพืชแนวตั้งขนาดใหญ่ ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2004 เริ่มน า Internet of Things (IoT) และ Machine learning มาใช้ ทั้งการรดน้ำและปรับการให้แสงแบบอัตโนมัติ และการเก็บข้อมูลการเพาะปลูกภายใต้การควบคุมปัจจัยต่างๆในหลากหลายรูปแบบ เพื่อหารูปแบบการเพาะปลูกที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด ส่งผลให้ AeroFarms สามารถระดมเงินทุนได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2010 รวม 138 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรากฏการณ์การระดมทุนอย่างคึกคักดังกล่าว ส่งผลให้การเกษตรแบบ Indoor farming เป็นที่จับตามองมากขึ้น

รูปที่ 2 : ตัวอย่างผู้ประกอบการธรุกิจการเกษตรแบบ Indoor farming และธรุกิจที่ให้บริการ Solution ด้าน Indoor farming

ปัจจุบันการเกษตรแบบ Indoor farming ค่อยๆ มีบทบาทในเชิงพาณิชย์มากขึ้นในไทย แต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก ส่วนหนึ่งเนื่องจากไทยมีทรัพยากรด้านการเกษตรอย่างเพียงพอ ทั้งพื้นที่เพาะปลูก แหล่งน้ำ และจำนวนแรงงานในภาคการเกษตร รวมทั้งยังมีภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกพืชแบบดั้งเดิมที่หลากหลาย ในขณะที่ การเกษตรแบบ Indoor farming ใช้เงินลงทุนสูงกว่าการเกษตรดั้งเดิม ส่งผลให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เลือกเพาะปลูกพืชที่ให้กำไรสูง ประกอบกับการเกษตรแบบ Indoor farming เหมาะสมต่อการเพาะปลูกผักและผลไม้บางชนิดเท่านั้น สินค้าเกษตรแบบ Indoor farming ของไทยจึงยังไม่หลากหลาย และมีขนาดตลาดที่จำกัด รูปแบบการเกษตรของไทยส่วนใหญ่จึงยังคงเป็นการเกษตรแบบดั้งเดิมอยู่

อย่างไรก็ดี การเอาชนะข้อจำกัดด้านสภาพภูมิอากาศ คือจุดเด่นที่ผลักดันให้การเกษตรแบบ Indoor farming ค่อยๆ แพร่หลายในไทยมากขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นการเพาะปลูกพืชในโรงเรือนโดยใช้ดินและน้ำ ซึ่งพืชที่เพาะปลูกส่วนใหญ่เป็นผักใบ และผักผลไม้เมืองหนาว เช่น ผักสลัด เมลอน สตรอว์เบอร์รี เป็นต้น

ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งที่สนใจเพาะปลูกพืชเมืองหนาว ได้ทดลองทำการเกษตรแบบ Indoor farming และพัฒนาจนถึงระดับที่สามารถเพาะปลูกในเชิงพาณิชย์ได้ ยกตัวอย่างเช่น ฟาร์มสตรอว์เบอร์รีช้าง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเพาะปลูกสตรอว์เบอร์รีในโรงเรือนปรับอากาศระบบปิด ที่มีการควบคุมแสงและอุณหภูมิ โดยฟาร์มแห่งนี้สามารถปลูกสตรอว์เบอร์รีได้ทุกฤดู และผลผลิตมีคุณภาพใกล้เคียงกับสตรอว์เบอร์รีนำเข้าจากเกาหลี หรือแม้แต่บ้านไร่ปวริศ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ที่สามารถเพาะปลูกแตงกวาสายพันธุ์จากเนเธอร์แลนด์ ในโรงเรือนระบบปิดได้ซึ่งแตงกวาสายพันธุ์นี้ได้ชื่อว่ามีความอ่อนไหวต่อสภาพอากาศ แมลง และเชื้อโรคอย่างมาก

อนึ่ง จากปริมาณผลผลิตที่ได้จากการเกษตรแบบ Indoor farming ในไทยที่ยังไม่สูงมากนัก ประกอบกับต้นทุนการเพาะปลูกที่ยังสูงกว่าการเกษตรแบบดั้งเดิม ส่งผลให้สินค้าเกษตรแบบ Indoor farming ของไทยยังมีราคาที่ค่อนข้างสูง ดังนั้นตลาดผู้บริโภคสินค้าเกษตรแบบ Indoor farming ในไทยจึงยังจำกัดอยู่เฉพาะผู้บริโภคบางกลุ่ม เช่น โรงพยาบาลเอกชนระดับบนที่ต้องการผักและผลไม้ปลอดสารพิษ เพื่อให้บริการผู้ป่วย ร้านอาหารและโรงแรมที่ให้บริการอาหารเพื่อสุขภาพ ครัวเรือนที่มีรายได้ระดับปานกลางค่อนไปทางสูง เป็นต้น

รูปที่ 3 : เปรียบเทียบราคาขายผลผลิตการเกษตรแบบดั้งเดิม และแบบ Indoor farming

การเกษตรแบบ Indoor farming ในไทย ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก จากการเข้าสู่ตลาดของผู้เล่นรายใหม่ และเทรนด์ความปลอดภัยด้านอาหารและการตรวจสอบย้อนกลับของผู้บริโภคชาวไทย

1. การเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการที่ทำการเกษตรแบบ Indoor farming รายใหม่ๆ ทั้งกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ กลุ่มทายาทของเกษตรกรที่ปรับเปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิมมาเป็นการเกษตรแบบ Indoor farming และกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจอื่นๆ ที่หันมาขยายการลงทุนในการเกษตรแบบ Indoor farming เพื่อต่อยอดธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องที่มีอยู่ เช่น ร้านอาหาร การท่องเที่ยว เป็นต้น ส่งผลให้ปัจจุบันมีสินค้าเกษตรแบบ Indoor farming จากผู้ขายที่หลากหลายให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อมากขึ้น

2. ผู้ให้บริการ Solution ด้าน Indoor farming ของไทยมีความหลากหลายมากขึ้น ตั้งแต่ผู้วางระบบ Plant factory ระบบไฟ LED ระบบการให้น้ำ ระบบปรับสภาวะอากาศสำหรับปลูกพืช ไปจนถึงผู้ให้บริการ Solution ด้าน Indoor farming อย่างครบวงจร โดยมุ่งเจาะตลาดผู้ใช้บริการ ทั้งกลุ่มผู้ประกอบการที่ทำการเกษตรแบบ Indoor farming และกลุ่มผู้เพาะปลูกที่เป็นครัวเรือนรายย่อย รวมถึงยังมีแนวโน้มขยายตลาดไปยังกลุ่มเกษตรกรที่ทำการเกษตรแบบดั้งเดิมมากขึ้น โดยการพัฒนา Solution ด้าน Indoor farming ได้เองในไทย น่าจะส่งผลให้ต้นทุนเทคโนโลยีด้านนี้ลดต่ำลง และเกิดความแพร่หลายของการเกษตรแบบ Indoor farming ในไทยมากขึ้น

3. ผู้บริโภคชาวไทยมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับความปลอดภัยด้านอาหารและการตรวจสอบย้อนกลับมากขึ้น โดยการเกษตรแบบ Indoor farming เป็นการทำการเกษตรในสิ่งปลูกสร้างระบบปิด ไม่มีการใช้สารกำจัดศัตรูพืช จึงสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคด้านความปลอดภัยจากสารพิษได้ โดยหากผู้ประกอบการที่ทำการเกษตรแบบ Indoor farming ได้มีการสื่อสารให้ข้อมูลความปลอดภัยจากสารพิษ ดังกล่าวไปยังผู้บริโภคชาวไทยให้รับรู้ได้ในวงกว้าง ประกอบกับต้นทุนเทคโนโลยีด้าน Indoor farming ลดต่ำลงและส่งผลให้สินค้าเกษตรแบบ Indoor farming ของไทยมีราคาลดต่ำลง ก็น่าจะกระตุ้นให้ผู้บริโภคชาวไทยหันมาเลือกซื้อสินค้าเกษตรแบบ Indoor farming กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น

จับตาอนาคต หากการเกษตรแบบ Indoor farming แพร่หลายมากขึ้น ไทยอาจลดการนำเข้าผักและผลไม้ลง รวมถึงรูปแบบการขนส่งผักและผลไม้แบบ Farm to Table จะได้รับความนิยมมากขึ้นในขณะที่ภาคการเกษตรแบบดั้งเดิม และผู้ส่งออกผักและผลไม้ต้องปรับตัวรับความท้าทาย

1. การนำเข้าผักและผลไม้จากต่างประเทศ น่าจะมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากสามารถเพาะปลูกผักและผลไม้ต่างๆ ในไทยได้เองมากขึ้น รวมถึงยงัสามารถควบคุมคุณภาพผลผลิตให้ใกล้เคียงกับผักและผลไม้นำเข้าได้โดยไทยนำเข้าผักและผลไม้ปีละประมาณ 4 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีในจำนวนนี้ เป็นการนำเข้าจากออสเตรเลียนิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา และเนเธอร์แลนด์รวมกันปีละประมาณ 180 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 9% ของปริมาณการนำเข้าผักและผลไม้โดยรวม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผักและผลไม้พรีเมียม เช่น แอปเปิ้ล แพร์สด องุ่นสด ส้ม เป็นต้น โดยหากเกิดการพัฒนาการเกษตรแบบ Indoor farming ในไทยให้สามารถเพาะปลูกผักและผลไม้พรีเมียมดังกล่าวได้ ก็จะช่วยลดการนำเข้าผลไม้กลุ่มดังกล่าว และสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับเกษตรกรไทย

2. จากการที่ Indoor farming เป็นรูปแบบการเกษตรที่สามารถเพาะปลูกที่ใดก็ได้ ซึ่งช่วยลดระยะทางการขนส่งผักและผลไม้ส่งผลให้รูปแบบการขนส่งผักและผลไม้โดยตรงจากแหล่งเพาะปลูกไปสู่ร้านอาหารหรือผู้บริโภค (Farm to Table) จะได้รับความนิยมมากขึ้น นอกจากนี้ ไทยอาจมีระดับการพัฒนาไปสู่การเพาะปลูกผักและผลไม้แบบ Indoor farming เพื่อขายในห้างสรรพสินค้าหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตดังเช่นในต่างประเทศ อย่างห้างสรรพสินค้า Target ในสหรัฐอเมริกา ที่มีการเพาะปลูกผักแบบ Indoor farming เพื่อขายในห้างสรรพสินค้าของตนเอง หรือซุปเปอร์มาร์เก็ตในเยอรมนีที่มีการเพาะปลูกผักขายในเรือนกระจก ซึ่งใช้บริการ Solution ด้าน Indoor farming จากบริษัท Infarm

3. การเกษตรแบบดั้งเดิมต้องปรับตัวรับความท้าทายจากการเกษตรแบบ Indoor farming ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่า ทั้งในด้านปริมาณผลผลิตที่มีเสถียรภาพมากขึ้น สามารถปรับคุณภาพผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดได้รวมถึงต้นทุนการเพาะปลูกที่สามารถลดลงในระยะยาว ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรแบบ Indoor farming ของไทยมีแนวโน้มลดต่ำลง และอาจสามารถแข่งขันด้านราคากับสินค้าเกษตรแบบดั้งเดิมได้ในอนาคต ดังนั้นเกษตรกรที่ทำการเกษตรแบบดั้งเดิมอาจหันมาทำการเกษตรแบบออร์แกนิค ซึ่งไม่มีการใช้สารกำจัดศัตรูพืช เพื่อให้ได้สินค้าที่มีความปลอดภัยใกล้เคียงกับสินค้าเกษตรแบบ Indoor farming

4. ประเทศนำเข้าผักและผลไม้ที่สำคัญของไทย อย่างจีน พัฒนาด้านการเกษตรแบบ Indoor farming อย่างรุดหน้า และอาจลดการนำเข้าผักและผลไม้จากไทย ซึ่งจีนนำเข้าผักและผลไม้จากไทยปีละไม่ต่ำกว่า 5 ล้านตัน และคิดเป็นมูลค่าปีละไม่ต่ำกว่า 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 40% ของมูลค่าการส่งออกผักและผลไม้ของไทยโดยรวม จึงกล่าวได้ว่า ไทยยังพึ่งพาการส่งออกผักและผลไม้ไปยังตลาดจีนอยู่มาก การพัฒนาด้านการเกษตรแบบ Indoor farming ของจีนอย่างรุดหน้า จึงส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ส่งผลให้ผู้ส่งออกผักและผลไม้ไทยจำเป็นต้องปรับตัวด้วยการขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศใหม่ๆ มากขึ้นเพื่อลดการพึ่งพาตลาดจีน ควบคู่กับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผักและผลไม้ไทย เช่น การแปรรูปผักและผลไม้เป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ช่วยรักษาคุณภาพของผักและผลไม้ระหว่างการขนส่ง เป็นต้น รวมถึงอาจมุ่งขยายการส่งออกผักและผลไม้พรีเมียมไปยังตลาดจีนที่มีกำลังซื้อ เช่น ปักกิ่ง เซี้ยงไฮ้ เป็นต้น

ความท้าทายของภาคการเกษตรไทย ทั้งจำนวนแรงงานภาคการเกษตรที่จะลดลง ความผันผวนของสภาพ ภูมิอากาศ รวมถึงข้อจำกัดในการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ เช่น น้ำ พื้นที่เพาะปลูก เป็นต้น เป็นปัจจัย กดดันให้ภาคการเกษตรไทยต้องเร่งปรับตัวให้การเพาะปลูกมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ประกอบกับความต้องการบริโภคผักและผลไม้ของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่เริ่มเปลี่ยนไปในทิศทางที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยด้านอาหารมากขึ้น ซึ่งการเกษตรแบบ Indoor farming จะช่วยเข้ามาตอบโจทย์ความท้าทายต่าง ๆ ดังกล่าวนี้ โดยอีไอซีมองว่า

ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการขับเคลื่อนให้เกษตรแบบ Indoor farming มีบทบาทในเชิงพาณิชย์ในไทยมากขึ้นอยู่ที่การส่งเสริมด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีให้สามารถเพาะปลูกพืชได้หลากหลายมากขึ้น ควบคู่กับการสื่อสารถึงข้อดีของสินค้าเกษตรแบบ Indoor farming เช่น ปลอดภัยจากสารพิษ ประหยัดทรัพยากรในการเพาะปลูก เป็นต้น เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคชาวไทยหันมาบริโภคสินค้ากลุ่มดังกล่าวได้ในวงกว้าง

ข้อมูลจาก : EIC SCB

แสดงความคิดเห็น