เอาจริง! รื้อระบบปั้น SMEs เปิดทางโล่งเข้าถึงแหล่งเงินทุน/ติงก.ม.ต้องเป็นธรรม

sme-แหล่งเงินทุน
sme-แหล่งเงินทุน

ปลัดอุตฯ เผยแผนบูรณาการหน่วยงานส่งเสริมเอสเอ็มอีเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า เชื่อช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการรวดเร็วและตรงมากยิ่งขึ้น ด้านภาคธุรกิจขานรับ “กฎหมายหลักประกัน” เชื่อหนุน “เอสเอ็มอี” เข้าถึงแหล่งเงินทุนง่ายขึ้น ขณะที่ตัวแทนผู้ส่งออก-หอการค้าระบุฟื้นเอสเอ็มอีเป็นงานหินของคสช. ระบุความสำเร็จ SMEs มีมากกว่าเงิน

หลังจากที่ประชุมคณะกรรม-การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (บอร์ดเอสเอ็มอี) ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานได้เห็นชอบกำหนดให้การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นวาระแห่งชาติ ด้วยการปรับโครงสร้างการบริหาร จัดการทั้งระบบโดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมเอสเอ็มอีเพิ่มนั้น 

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. มอบนโยบายในที่ประชุมบอร์ดเอสเอ็มอีโดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมเอส เอ็มอี เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมหารือกับหน่วยงานต่างๆ ทำแผนการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาศักยภาพเอสเอ็มอีได้อย่างรอบด้าน โดยคาดว่า แผนดังกล่าวจะเสร็จเรียบร้อยภายใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า

นายวิฑูรย์กล่าวว่า การส่งเสริม และสนับสนุนเอสเอ็มอีตอนนี้มีหลายหน่วยงานดำเนินการ จึงเห็นสมควรบูรณาการการให้ความช่วยเหลือให้รวดเร็วและตรงประเด็นที่ภาคเอกชนต้องการ และเห็นผลลัพธ์เป็นรูปธรรมมากที่สุด เช่น การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การให้ความช่วยเหลือด้านการเงินเพื่อเพิ่มสภาพคล่องและเงินหมุนเวียน การลงทุนเพื่อขยายกิจการ การตลาดเพื่อหาช่องทางใหม่ๆ และการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านต่างๆ เป็นต้น

แนวทางการส่งเสริมและสนับ-สนุน จะแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ ภาคการผลิต ภาคการค้า ภาคบริการ และ ภาคเกษตร ซึ่งแต่ละกลุ่มมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันไปโดยจะหารือทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดกรอบส่งเสริมได้ถูกต้องเหมาะสม

ขณะที่นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) กล่าวในงานเสวนา “กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจจะช่วยให้ไทยเข้มแข็งทางเศรษฐกิจได้จริงหรือ” ว่า กฎหมายฉบับนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ต่อไปในอนาคตเพราะจะทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ สะดวกขึ้น

ปัจจุบันเอสเอ็มอีมีประมาณ 2.7-2.9 ล้านราย มีการจ้างงานรวมกว่า 11 ล้านคน แต่พบว่าสามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อจริงได้เพียง 7-9 แสนรายเท่านั้น ขณะที่เอสเอ็มอีส่วนใหญ่เกือบ 2 ล้านราย ยังเข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้ยาก เพราะติดปัญหาในเรื่องหลักประกันที่นำมาใช้ในการขอสินเชื่อ

“กฎหมายตัวนี้ทำให้ผู้ประกอบการมีหลักประกันที่หลากหลายขึ้นในการนำไปใช้ขอสินเชื่อจากทางธนา-คารพาณิชย์ ซึ่งกฎหมายตัวนี้ช่วยให้ เอสเอ็มอี เหมือนกับมีกองหลักที่แข็งแกร่งขึ้น เพราะมีหลักประกันมาทำให้แบงก์มั่นใจที่จะปล่อยสินเชื่อให้” นายประสารกล่าว

ขณะที่นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย อดีตรองประธานวุฒิสภา กล่าวว่า กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจจะช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้ง่ายขึ้น เพียงแต่ด้วยกฎหมายอย่างเดียวคงไม่ได้ แต่ต้องได้รับการสนับสนุนจากภาคสถาบันการเงินด้วย

อย่างไรก็ตาม มีประเด็นกฎหมายบางข้อที่น่าเป็นห่วงเนื่องเพราะกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเพียงอย่างเดียว แต่ยังให้อำนาจคุ้มครองผู้ปล่อยสินเชื่อด้วย สะท้อนผ่านข้อกฎหมายในบางข้อที่อนุญาตให้ผู้ปล่อยสินเชื่อสามารถยึดเอาทรัพย์สินขายทอดตลาดได้โดยที่ไม่ต้องผ่านกระบวนการฟ้องร้องตามศาล ดังนั้น กฎหมายฉบับนี้จะเกิดประโยชน์ได้ คู่สัญญาต้องมีความเป็นธรรมและมีความเสมอภาคกันในการทำสัญญา

นางสาลินี วังตาล ผู้ช่วย ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจว่า จะส่งผลดีต่อธุรกิจเอสเอ็มอีให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นจากหลักประกันที่เพิ่มขึ้น ซึ่งหลักประกันในกฎหมายไทยมีอยู่น้อยมาก หากออกกฎหมายฉบับนี้จะทำให้มีหลักประกันเพิ่มขึ้น อาทิ สัญญาเช่า สินค้าคงคลัง รวมถึงสิทธิบัตร เอามาเป็นหลักประกันตามกฎหมาย ได้ จะช่วยให้เอสเอ็มอีที่ใช้หลักประกันครบเต็มวงเงิน แต่ยังมีศักย-ภาพในการเติบโตให้มีเงินทุนเพิ่มขึ้น

“ที่ผ่านมา คสช.ได้เชิญสมาคมธนาคารไทย โดยสมาคมขอให้ดำเนินการในเรื่องนี้เร่งด่วนที่ควรจะทำโดยคนที่ได้รับประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้มากที่สุดคือเอสเอ็มอี เพราะปัจจุบันเวลาจะกู้เงิน ธนาคารต้องเรียกหลักประกันให้เยอะไว้ก่อน” นางสาลินี กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้ทำหน้าที่ ร่างกฎหมายจนแล้วเสร็จ แต่ติดขัดในเรื่องการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เพราะเชื่อมโยงกับหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายเจ้าหนี้ ฝ่ายธนาคาร ฝ่ายลูกหนี้ และฝ่ายกรมบังคับคดี

ขณะที่นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การที่เอสเอ็มอีสามารถนำสินค้าคงคลังมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อขอสินเชื่อได้นั้น น่าจะช่วยให้ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยเงินกู้ได้สะดวกขึ้น ทำให้การเข้าถึงแหล่งเงินทุนก็น่าจะดีขึ้น จึงเชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้จะมีส่วนช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศไทยได้มาก

ด้านนางเพ็ญทิพย์ พรจะเด็ด นายกสมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย กล่าวว่า สนับสนุนการยกร่างกฎหมายดังกล่าวจะทำให้ธุรกิจรายเล็กที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น ซึ่งเอสเอ็มอี หวังว่าธนาคารพาณิชย์จะช่วยสนับ-สนุนให้เอสเอ็มอีกู้ได้ง่ายขึ้น

ในมุมมองของนักธุรกิจอย่าง ไพบูลย์ พลสุวรรณา ที่ปรึกษาสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศ ไทย มองว่าการแก้ปัญหาเอสเอ็มอีคืองานที่ “โหด” และ “หิน” ที่สุดชิ้นหนึ่งของ คสช. เนื่องจากปัญหาของธุรกิจ SMEs เกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงแรงงาน, คลัง, พาณิชย์ ฯลฯ การประกาศเป็น “วาระแห่งชาติ” เป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่จะทำอย่างไรจึงจะบูรณาการการทำงานทั้งระบบให้เป็นเนื้อเดียวกัน

เขายกตัวอย่างแค่การบริหารจัดการสินเชื่อเรื่องเดียวทุกรัฐบาลยังไม่สามารถแก้ได้ แม้จะมีแคมเปญ ส่งเสริมสินเชื่อออกมานับไม่ถ้วน แต่กลับไม่มีธนาคารใดกล้าปล่อยเงินให้กับ SMEs ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพราะทุกธนาคารมองว่าการปล่อยกู้ให้กับ SMEs มีความเสี่ยงสูง และหากมีการปล่อยกู้จริงดอกเบี้ย ก็แพงกว่าการปล่อยกู้ให้กับธุรกิจขนาดใหญ่ เป็นเหตุให้ SMEs ส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงสินเชื่อ การออกกฎหมาย หลักประกันธุรกิจ เพื่อให้เข้าถึงสินเชื่อ ง่ายขึ้น น่าจะแก้ปัญหาได้ส่วนหนึ่ง

“ผมคงวิจารณ์ไม่ได้ว่าวาระแห่งชาตินี้จะประสบความสำเร็จหรือเปล่า เพราะต้องให้เวลา คสช.ทำงาน แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นโรดแมปที่เป็นรูปธรรมว่าจะแก้ปัญหาของ SMEs อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปล่อยสินเชื่อ การเข้าถึงเทคโนโลยี การช่วยเรื่องการตลาด หรือการเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน โครงการยังค่อนข้างกว้าง ต้องรอดูแผนงานที่จะออกมา” ไพบูลย์ กล่าว

ขณะที่พงษ์ศักดิ์ อัสสกุล อดีตประธานหอการค้าแห่งประเทศไทย แสดงความเห็นว่าหอการค้าเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ให้ความช่วยเหลือธุรกิจ SMEs มาอย่างต่อเนื่อง เพราะสมาชิกส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันหอฯก็ให้ความร่วมมือนำเสนอปัญหาและหาทางออกแก่ คสช. ซึ่งทางรอดของ SMEs ไม่ได้อยู่ที่เงินอย่างเดียว แต่จะทำอย่างไรเมื่อได้เงินมาแล้วจะอยู่รอดอย่างยั่งยืน ซึ่งเจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่ไม่เข้าใจเรื่องการตลาด ไม่รู้จักการปรับตัวเพื่อรับการเปลี่ยนแปลง ทำให้เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งต้องปิดกิจการลง เพราะแข่งขันไม่ได้ โดยหอการค้าฯ จะมีทีมเซอร์เวย์เข้าไปพูดคุยกับเจ้าของกิจการเพื่อทราบปัญหาและช่วยแก้ไข บางธุรกิจต้องการผู้เชี่ยวชาญก็จะจัดหาผู้รู้ในแขนงนั้นๆ ไปช่วยเป็นติวเตอร์ เมื่อ คสช.มีนโยบายยก SMEs เป็นวาระแห่งชาติจึงถือเป็นเรื่องดีที่จะทำงานร่วมกัน

ขอบคุณข้อมูลจาก : สยามธุรกิจ

แสดงความคิดเห็น


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *