หลักการตลาดที่มีส่วนช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงตัวสินค้าได้ง่าย และกลายเป็นลูกค้าประจำที่มีความภักดีต่อตราสินค้าได้ในที่สุดก็คือตราสินค้าที่ผ่านการออกแบบมาเพื่อให้สะดุดตาดูมีคุณค่าและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จดจำง่าย เมื่อมองแล้วรู้ได้ทันทีว่าเป็นสินค้าใด การออกแบบที่ดีนั้นต้องผ่านกระบวนการกลั่นกรองที่ดีเพื่อให้ตราสินค้าที่หมายรวมไปถึงบรรจุภัณฑ์ด้วยนั้นเป็นที่รู้จักได้ในเวลาอันรวดเร็ว เมื่อลองพิจารณาหลักการออกแบบที่ถูกต้องนั้นมีกระบวนการต่างๆ ดังนี้
- การตีปัญหา (Problem Identification) การออกแบบทุกอย่างเกิดจากรากฐานอันเดียวกันคือ ความต้องการของมนุษย์ (Needs) โดยนักออกแบบฯ ต้องรู้ปัญหาชี้ชัดลงไปได้อย่างแจ่มแจ้งถึงความต้องการและประโยชน์ใช้สอย (Needs & Function) โดยมีลักษณะดังนี้
- การตีปัญหาเรื่อง ความต้องการสำหรับการออกแบบ (Design Need) ซึ่งต้องพิจารณาองค์ประกอบย่อยต่อไปนี้ร่วมด้วยคือ กรรมวิธีการผลิต,เทคนิคการผลิต,เทคนิคกลไก,เครื่องจักร Machine,อิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงประโยชน์ใช้สอยด้วย
- การตีปัญหาเรื่อง หลักการ กฎเกณฑ์ บรรทัดฐานสำหรับการออกแบบ (Design Criteria) การตีประเด็นในเรื่องนี้ต้องพิจารณาส่วนประกอบในเรื่องรายได้ กำลังซื้อ เพศ อายุ ความรู้ รสนิยม ประเพณี ความเชื่อ พฤติกรรมการใช้ที่ยังต้องพิจารณาเรื่องรูปร่าง สัดส่วน ความปลอดภัย ลักษณะเด่นหรือด้อยร่วมด้วย
- การวิเคราะห์และสรุปข้อมูล (Analysis & Report) การนำข้อมูลจากขั้นตอนการตีปัญหาโดยการสำรวจ จัดเก็บข้อมูลเบื้องต้นและเชิงลึก นำมาวิจัย วิเคราะห์ และ ประเมินผล โดยวิธีการทางสถิติ และทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อหาข้อสรุปของข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่ได้นำมาสู่การสร้าง “แนวคิดในการ ออกแบบ Concept of Design” เป็นการสรุปแนวทางและขอบเขตในกระบวนการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการสรุปแนวคิดในการออกแบบสร้างสรรค์ผลงานผลิตภัณฑ์ที่มีความเหมาะสมในช่วงเวลานั้นๆ และตรงกับความต้องการของตลาด
แนวทางการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ Design & Development การใช้หลัก Scamper Model เป็นคำย่อของคำต่างๆ ดังนี้ S-Substitute–การทดแทน C-Combine–การผสมผสาน A-Adapt-การปรับรับสิ่งอื่นมาใช้ M-Modify-การปรับปรุง P-Put to other uses-การประยุกต์ใช้กับสิ่งอื่น E-Eliminate-การตัดออก R-Reverse-การย้อนกลับ
ข้อมูลที่ควรมีเพื่อใช้อ้างอิงในการออกแบบผลิตภัณฑ์ฯ
ข้อมูลการตลาด
– กลุ่มเป้าหมาย เพศ อายุ วัย ความจำเป็น และความต้องการสินค้าในตลาด
– คู่แข่ง สินค้าที่ใกล้เคียงกัน
– ราคาที่เหมาะสม
– สถานที่ โอกาส ฤดูกาล เทศกาล ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค
– ช่องทางการส่งเสริมการขาย Promotion
วัตถุดิบ
– แหล่งวัตถุดิบ ต้นทุน ราคา และการขนส่ง
– คุณภาพ และการนำไปใช้งาน
กระบวนการผลิต
– ง่ายต่อการผลิต ไม่ซับซ้อน
– สามารถผลิตได้จริง
– มีรูปแบบเป็นทีต้องการของผู้บริโภค
– ถอด ประกอบ ติดตั้งใช้งานได้ง่าย
– สะดวก ปลอดภัย ได้คุณภาพ
การทำแผนที่ความคิดผลิตภัณฑ์ My Mapping Products คือการเชื่อมโยงข้อมูลพื้นฐานที่มีทั้งหมดเข้าด้วยกัน ทำให้เห็นภาพรวมความต้องการและทิศทางรูปแบบผลิตภัณฑ์
ขั้นตอนการดำเนินงานออกแบบผลิตภัณฑ์
การออกแบบด้วยความคิดริเริ่มเบื้องต้น Idea Sketch แน่นอนว่าการออกแบบแต่ละครั้งนั้นอาจเกิดไอเดียความคิดได้หลากหลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละรูปแบบก็จะมีจุดเด่นจุดด้อยที่แตกต่างกัน ดังนั้นเมื่อเกิดความคิดใดขึ้นมาก็ควรจะนึกภาพรวมของบรรจุภัณฑ์นั้นหรือนึกจุดเด่นไว้ก่อน
การออกแบบภาพร่างแนวคิดในการออกแบบ Sketch Design หลังจากเกิดไอเดียขึ้นมาแล้วเพื่อป้องกันไอเดียเหล่านั้นจะสูญหายไปจึงควรมีการร่างภาพคร่าวๆเก็บไว้เลือกในภายหลังต่อไป
การทำภาพเหมือนจริง Rendering ในขั้นตอนนี้จะมีการเพิ่มรายละเอียดมากขึ้นรูปแบบของที่มีนั้นจะมีความสมจริงมากขึ้นเพื่อให้พร้อมในการนำไปใช้ในการสร้างจริงต่อไป
การนำเสนอรายละเอียด Detail จุดเด่นที่น่าสนใจบรรจุภัณฑ์ที่ดีควรมีจุดเด่นที่เป็นจุดที่น่าสนใจและดึงดูดสายตาผู้มองในขั้นตอนการออกแบบนั้นควรให้ความสำคัญกับขั้นตอนนี้เช่นกันว่ามีจุดใดเป็นเอกลักษณ์ของการออกแบบชุดนี้เพื่อใช้ในการเลือกรูปแบบที่ดีที่สุดไปทำจริงได้
การแยกรายละเอียดชิ้นส่วน เมื่อได้ทำการเลือกแบบที่ถูกใจแล้วก่อนการนำไปใช้ในการสร้างจริงในขั้นตอนต่อไปนั้นควรมีการจำแนกรายละเอียดของบรรจุภัณฑ์หรือตราสัญลักษณ์ที่ได้เลือกแล้วนั้นให้มีความชัดเจนถึงส่วนประกอบแต่ละส่วนว่ามีลักษณะอย่างไร ต้องการใช้วัสดุใดเป็นส่วนประกอบ ใช้สีใด เพื่อให้การสร้างจริงนั้นไม่เกิดความผิดพลาด ซึ่งในการสร้างจริงนั้นมีงบประมาณในการทำมากกว่าจึงควรออกแบบให้มั่นใจเสียก่อนไม่เช่นนั้นอาจเกิดปัญหาเรื่องงบประมาณที่เพิ่มขึ้นตามมาทีหลังได้
การนำเสนอผลงานการออกแบบ Presentation หากบรรจุภัณฑ์นั้นถูกออกแบบมาสำหรับสินค้าในบริษัท ห้างร้านที่ต้องผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อนนั้นขั้นตอนนี้สำคัญอย่างมากสำหรับการออกแบบเนื่องจากว่าการนำเสนอไอเดียของผู้ออกแบบให้ผู้อื่นเข้าใจรับทราบได้ตรงกันนั้นทำได้ยากมากเช่นกัน หากมั่นใจว่าการออกแบบเบื้องต้นนั้นสามารถบรรยายได้ด้วยรูปภาพ ในขั้นตอนนี้ก็จะเป็นการนำเสนอด้วยโปรแกรมนำเสนอทั่วๆ ไปได้แต่หากไม่มั่นใจว่าผู้ที่รับฟังอยู่นั่นจะมีความเข้าใจตรงกันกับผู้ออกแบบหรือไม่ก็ควรมีการสร้างโมเดลขึ้นมาเพื่อประกอบการอธิบายด้วย
การจัดทำต้นแบบ Makeup Model เพื่อศึกษารูปร่าง รูปทรงภายนอก shape & form รูปแบบเสมือนจริงแต่ไม่สามารถใช้งานได้จริงเป็นขั้นตอนที่ใช้ประกอบการบรรยายนำเสนอรูปแบบของชิ้นงานเพื่อให้ผู้ฟังได้เป็นลักษณะของบรรจุภัณฑ์นั้นอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
การจัดทำต้นแบบจริง Prototype Model รูปแบบเสมือนจริง สามารถใช้งานได้จริงเป็นผลงานต้นแบบที่ทดลองสร้างขึ้นมาเพื่อเตรียมสร้างผลงานจริง ในขั้นตอนนี้อาจมีการทดสอบบรรจุภัณฑ์ก่อนว่ามีความสะดวกในการใช้งานหรือไม่ หากพบปัญหาใดสามารถที่ทำการปรับแก้เบื้องต้นก่อนสร้างผลงานจริงได้ เช่น อาจมีการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สามารถพับเก็บได้ ซึ่งบรรจุภัณฑ์แบบนี้มักได้รับความสนใจจากลูกค้ามากเพราะสามารถเก็บได้นานและอาจนำไปใช้ประโยชน์อื่นต่อไปได้ แต่บรรจุภัณฑ์ชนิดนี้ควรมีการออกแบบให้มีความสะดวกในการใช้ทั้งการเก็บก็ง่าย และที่สำคัญง่ายต่อการทำความเข้าใจในการใช้งาน ซึ่งหาก 3 ประการนี้ทำได้ดีบรรจุภัณฑ์นี้จะได้รับความนิยมอย่างแน่นอน
การเขียนแบบเพื่อการผลิตจริง Working Drawing เมื่อผ่านการแก้ปัญหาเบื้องต้นมาแล้วก็มาถึงขั้นตอนในการผลิตจริงในขั้นตอนนี้อาจมีการกำหนดปริมาณเบื้องต้นมาก่อนว่าจะใช้บรรจุภัณฑ์นี้ในปริมาณเท่าใดในการทดสอบตลาด ซึ่งหากได้รับความนิยมก็อาจมีการผลิตเพิ่มในภายหลังได้จะช่วยให้ประหยัดงบประมาณได้อีกทางหนึ่งด้วย
การนำเสนอเพื่อทดลองตลาดจริง Present of Test Marketing เป็นขั้นที่สำคัญมากที่จะได้ทราบว่าบรรจุภัณฑ์หรือตราสินค้าที่ได้ผ่านการออกแบบมานั้นได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าหรือไม่ หากเป็นที่นิยมก็สามารถใช้รูปแบบบรรจุภัณฑ์นั้นในการเป็นตัวแทนสินค้าได้ใช้ระยะเวลาอีกช่วงเวลาหนึ่งก็อาจทำให้สินค้านั้นกลายเป็นสินค้าในดวงใจได้ แน่นอนว่าการจะไปถึงระดับที่ลูกค้ามีความภักดีต่อตราสินค้านั้นจะต้องรักษามาตรฐานของสินค้าควบคู่กันไปด้วย แต่หากไม่ได้รับความนิยมก็สามารถวางแผนในการปรับเปลี่ยนรูปแบบของบรรจุภัณฑ์หรือตราสินค้าให้เหมาะสมและเป็นที่รู้จักต่อไปในภายหลังได้
กระแสนิยมในปัจจุบันมีแนวโน้มให้ความสนใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากทางผู้ประกอบการเล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ร่วมด้วยก็จะช่วยให้แนวความคิดในเรื่องการออกแบบนั้นกลายเป็นจุดขายได้รูปแบบดังกล่าวคือ การออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ หรือ Eco Design (Economic & Ecological Design) ซึ่งเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการผลิตสินค้าโดยเป็นกระบวนการที่ผนวกแนวคิดด้านเศรษฐกิจและด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไปในขั้นตอนการออกแบบเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งรวมถึงการวิเคราะห์สมรรถนะทางด้านสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ การจัดการซากที่หมดอายุ การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทุกช่วงของวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ โดยควบคู่กับการวิเคราะห์ปัจจัยด้านอื่นๆ เช่น ต้นทุน กระบวนการผลิต การควบคุมคุณภาพ และการตลาด เป็นต้น
หลักการพื้นฐานของการทำ Eco Design คือ การนำหลัก 4R ได้แก่ การลด (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) การนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) และการซ่อมบำรุง(Repair) มาประยุกต์ใช้ในทุกช่วงของวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ คือตั้งแต่การวางแผนผลิตภัณฑ์ การออกแบบ การผลิต การนำไปใช้ และการทำลายหลังการใช้เสร็จ ความสำคัญของ Eco Design มิใช่เป็นเพียงแค่แนวทางในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น หากยังมีความสำคัญต่อการค้าและการส่งออกอีกด้วย เนื่องจากในปัจจุบันประเทศในกลุ่มพัฒนาแล้วไม่ว่าจะเป็น สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา หรือญี่ปุ่น ต่างให้ความสนใจด้านสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น
Eco Design เป็นแนวทางหนึ่งในการแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากแนวทางอื่นๆ ที่เป็นที่รู้จักกันดีไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีสะอาด (Cleaner Technology; CT) หรือวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment; LCA) ซึ่งในประเทศไทยพบว่า ปัจจุบันมีหน่วยงานของรัฐ องค์กรอิสระและสถาบันการศึกษาหลายแห่งที่มีโครงการศึกษาและการเรียนการสอนเพื่อพัฒนา องค์ความรู้ด้าน Eco Design มากขึ้น ตลอดจนการเผยแพร่ความรู้และสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถนำ Eco Design มาผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม (Eco Product)
อย่างไรก็ตามประเทศไทยได้จัดทำโครงการ “ฉลากเขียว” (Green label หรือ Eco-label) มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2536 ซึ่งถือได้ว่าเป็นการกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมในเมืองไทยโดยฉลากดังกล่าวเป็นฉลากที่ให้กับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ที่ทำหน้าที่อย่างเดียวกันซึ่งการออกฉลากเขียวนี้ไม่มีกฎหมายบังคับแต่ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้ผลิตผู้จัดจำหน่าย หรือผู้ให้บริการที่ต้องการแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมโดยปัจจุบันมีข้อกำหนดฉลากเขียวสำหรับผลิตภัณฑ์แล้ว 39 ประเภท แม้ปัจจุบันประเทศไทยจะยังไม่มีมาตรการหรือข้อกฎหมายบังคับในการผลิตสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน แต่จากสภาวะโลกร้อนที่ทุกคนสัมผัสได้บวกกับมาตรการการค้าระหว่างประเทศที่เข้มงวดขึ้นจะเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ประกอบการได้หันมาใส่ใจกับแนวทาง Eco design กันมากขึ้นอย่างแน่นอน