จับกระแส “ธุรกิจกาแฟสด” เทรนด์สุดฮอต! ยุคไหนก็ไม่OUT

ในความฝันของคนที่คิดอยากจะเริ่มต้นธุรกิจ เชื่อว่า ร้านกาแฟ เป็นหนึ่งในตัวเลือกอันดับต้นๆ แต่อย่างที่ทราบกันดี ร้านกาแฟเป็นธุรกิจที่สามารถเปิดได้ง่าย ขณะเดียวกันก็ปิดตัวลงได้ง่ายเช่นกันด้วย เรียกว่าเป็นธุรกิจปราบเซียน ที่ใครไม่เจ๋งจริง ก็ยากที่ฝ่าสมรภูมิการแข่งขันที่ดุเดือดของตลาดกาแฟไปได้ แต่อย่างไรแล้ว ความหอมหวลของธุรกิจกาแฟก็ยังมีมากจนทำให้หลายคนพร้อมที่จะลุยไปกับธุรกิจนี้

จากข้อมูลศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยมูลค่าธุรกิจกาแฟไทยที่มีมากถึง 21,220 ล้านบาทในปี 2560 และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ตลาดกาแฟในประเทศไทยนั้นมีการขยายตัวทั้งในแง่ของผู้เล่นในตลาด ที่มีตั้งแต่รายใหญ่ ซึ่งเป็นระดับ Global Brand ยักษ์ใหญ่ในประเทศ เรื่อยไปถึงจนถึงผู้เล่นรายกลาง รายเล็ก และรายย่อย ที่เกิดขึ้นใหม่ไม่เว้นแต่ละวัน ขณะเดียวกันฝั่งผู้บริโภคเองก็มีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะผู้บริโภคที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่หันมานิยมดื่มกาแฟมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของ Euromonitor ที่บอกไว้ว่า ประเทศไทย เป็น 1 ใน 4 ของประเทศในอาเซียนที่ติดอยู่ใน 50 อันดับแรกของโลก ที่มีการบริโภคกาแฟโดยเฉลี่ยมากที่สุด โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 41 ขณะที่สิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 36 มาเลเซียอันดับที่ 45 และฟิลิปปินส์ติดอยู่ที่อันดับ 49

กาแฟพรีเมียม ตลาดนี้มาแรง!

ทั้งนี้ จากความเห็นของกูรูด้านกาแฟเมืองไทยอย่าง คุณชาตรี ตรีเลิศกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีเบอร์รี่ จำกัด ผู้จัดจำหน่ายเครื่องชง อุปกรณ์การทำกาแฟระดับพรีเมียม และผู้ก่อตั้งร้านกาแฟ Pacamara Coffee Roasters บอกไว้ว่า ปัจจุบันตลาดกาแฟที่มีการเติบโตอย่างเห็นได้ชัด คือ “ตลาดกาแฟคั่วบด” ซึ่งทั่วโลกมีแนวโน้มขยายตัวสูงมาก โดยเฉพาะในแถบเอเชีย ความนิยมดื่มกาแฟคั่วบดมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เมื่อเจาะลึกลงไปพบว่าในตลาดกาแฟคั่วบดนั้น “กลุ่มกาแฟพรีเมียม” ซึ่งหมายถึงร้านกาแฟที่ใช้กรรมวิธีการชงในแบบเครื่องชงเอสเพรสโซ่แล้วนำไปผสมเป็นเมนูต่างๆ รวมถึงมีการคัดสรรเมล็ดกาแฟ ซึ่งร้านกาแฟพรีเมียมสามารถแบ่งย่อยออกไปได้อีก ตามระดับราคา รูปแบบธุรกิจ และการตกแต่งร้าน นับเป็นกลุ่มที่มีการเติบโตอย่างโดดเด่นและน่าสนใจ

สะท้อนให้เห็นได้จากเจ้าตลาดกาแฟพรีเมียม อย่าง Starbucks ที่มียอดขายเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่แบรนด์ไทยอื่นๆ เองก็พยายามที่จะเข้ามาแข่งขันในตลาดกาแฟพรีเมียมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน ทั้งนี้ เป็นผลจากพฤติกรรมการดื่มกินของคนปัจจุบันที่หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องของวัตถุดิบมากขึ้น รวมถึงช่วงอายุของผู้บริโภคที่ดื่มกาแฟจากเดิมจะอยู่ที่ 23 ปีขึ้นไป แต่ขณะนี้เริ่มลดลงมาอยู่ในช่วงอายุ 16-18 ปีขึ้นไป จึงทำให้ฐานผู้บริโภคกาแฟนั้นกว้างและมีปริมาณมากขึ้น ส่งผลให้โอกาสของธุรกิจกาแฟยังเติบโตได้อีกมาก

แน่นอนว่าทุกแบรนด์มองเห็นโอกาสเช่นเดียวกันหมด ฉะนั้นการจะอยู่รอดและแข่งขันได้สำหรับแบรนด์เล็กๆ คุณชาตรี แนะนำว่า ต้องรู้จักธุรกิจและรู้จุดยืนของตนเองให้ดี พร้อมทั้งโฟกัสตลาดอย่างชัดเจน เพราะอย่างไรแล้ว ไม่มีใครสามารถเป็นเจ้าตลาดหรือครองตลาดได้ทุกกลุ่ม (Segment) แม้แต่ Café Amazon ถึงจะเป็นแบรนด์ที่ได้ชื่อว่ามีสาขามากที่สุด แต่ก็ยังวางตำแหน่งทางการตลาดของตนเองไว้ในกลุ่มหนึ่ง หรือ Starbucks อาจจะทำบางอย่างไม่ได้เหมือนกับแบรนด์ท้องถิ่น (Local Brand) ดังนั้นจะเห็นว่า แต่ละแบรนด์จะมีจุดยืนของตัวเองที่แตกต่างกันออกไป และนั่นคือ สิ่งที่ SME ต้องทำเช่นกัน เข้าใจแบรนด์ของตัวเองให้ได้ เพื่อหาจุดแตกต่างของธุรกิจให้เจอ

เทรนด์ตลาดกาแฟ ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่

หากมองเทรนด์ของธุรกิจกาแฟจะเห็นว่า เริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องของเมนู หรือรสชาติกาแฟเท่านั้น แต่จะเริ่มเห็นถึงความหลากหลายของธุรกิจกาแฟที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในยุคที่ดิจิทัลและเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในธุรกิจมากขึ้นเรื่อยๆ เทคโนโลยีกับร้านกาแฟ กลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัวและกลมกล่อมอย่างมากสำหรับผู้บริโภคยุคใหม่

ยกตัวอย่าง ร้านกาแฟแบรนด์ดังของจีน อย่าง Luckin Coffee สตาร์ทอัพกาแฟเจ้าถิ่นแดนมังกร ที่ก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งตัวฉกาจของแบรนด์ระดับโลกอย่าง Starbucks ได้ ด้วยระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี สามารถขยายสาขาได้มากกว่า 2,000 แห่ง และยังมีแผนที่จะเปิดสาขาเพิ่มอีก 2,500 แห่งภายในสิ้นปีนี้ นั่นหมายความว่า จำนวนสาขาของ Luckin Coffee กำลังจะแซงหน้า Starbucks ที่เข้ามาเปิดตลาดในจีนตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่แล้วและมีสาขาประมาณ 3,600 แห่ง

โดยปัจจัยความสำเร็จที่ทำให้ Luckin Coffee เป็นที่นิยมของชาวจีนอย่างมาก นอกเหนือจากกลยุทธ์การตั้งราคาที่เน้นความถูก ซึ่งเฉลี่ยราคาเครื่องดื่มของ Luckin Coffee จะถูกกว่าของ Starbucks ประมาณ 20 – 30% แล้ว สิ่งที่ทำให้กาแฟท้องถิ่นรายนี้โดดเด่นขึ้นมา นั่นคือ การเป็นร้านกาแฟแห่งเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์การบริโภคสไตล์จีนได้เป็นอย่างดี เพราะทุกๆ การสั่งซื้อและการชำระเงินจะทำผ่านแอปพลิเคชันทั้งหมด โดยจะการมีบริการเดลิเวอรี่จัดส่งถึงที่ภายใน 30 นาที หรือลูกค้าสามารถเดินออกไปรับกาแฟเองได้ที่สาขาที่สะดวกที่สุด ซึ่งนับเป็นการตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคชาวจีน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ไม่นิยมการใช้จ่ายแบบเงินสด และต้องการความสะดวกรวดเร็วนั่นเอง

เช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่น เมื่อผู้ผลิตกาแฟพร้อมดื่มแบรนด์ BOSS ลุกขึ้นมาเปิดร้านกาแฟที่ชื่อว่า TOUCH-AND-GO COFFEE ซึ่งจุดเด่นของร้านนี้คือ การที่ลูกค้าสามารถสั่งกาแฟ โดยเลือกเมนูตามที่ต้องการได้ผ่านทาง LINE Official Account พร้อมชำระเงินผ่าน LINE Pay หรือบัตรเครดิตก็ได้ จากนั้นลูกค้าสามารถกำหนดเวลาในการไปรับกาแฟได้เอง โดยสามารถไปรับกาแฟได้ที่ Locker ตามหมายเลขที่แจ้งเตือนเข้ามา กลายเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ใหม่ที่มอบให้กับลูกค้าที่ชื่นชอบการดื่มกาแฟในยุคนี้ ซึ่งเป็นการเชื่อมผสานระหว่างออนไลน์ (Online) กับออฟไลน์ (Offline) ได้เป็นอย่างดี

จับตาผู้เล่นนอกสนาม ร่วมวงชิงตลาดกาแฟ

ด้วยโอกาสมหาศาลในธุรกิจกาแฟ ไม่ได้ดึงดูดเฉพาะผู้เล่น ในธุรกิจกาแฟให้เข้ามาช่วงชิงตลาดเท่านั้น ยังมีผู้เล่นที่ไม่ได้อยู่ในตลาดกาแฟโดยตรง พากันกระโดดเข้ามาร่วมวงชิงเค้กก้อนนี้กันอย่างสนุกสนาน ใครจะคิดว่าเครื่องดื่มน้ำดำอย่าง โค้ก ก็ขอเกาะกระแสโตไปด้วย โดยภายในสิ้นปีนี้ โคคา-โคลา บริษัทเครื่องดื่มชั้นนำระดับโลกตั้งเป้าที่จะวางขาย โคคา–โคลา คอฟฟี่ (Coca-Cola Coffee) ให้ได้ใน 25 ตลาดทั่วโลก

การเคลื่อนไหวครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากการที่ผู้บริโภคมีการเปลี่ยนพฤติกรรมจากการดื่มน้ำอัดลมไปสู่เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลน้อยลง ซึ่งโคคา– โคลา คอฟฟี่ เป็นเครื่องดื่มที่ผสมระหว่างโค้กและกาแฟ เพื่อดึงดูดลูกค้าที่ต้องการน้ำตาลน้อยแต่อยากได้คาเฟอีนเพิ่มขึ้น ซึ่ง โคคา–โคลา คอฟฟี่นั้นมีคาเฟอีนน้อยกว่ากาแฟทั่วไปเล็กน้อย แต่ก็เป็นปริมาณที่มากกว่าน้ำอัดลม 1 กระป๋อง ซึ่งในการทำเครื่องดื่มแบบนี้ออกมา เพราะโคคา-โคลาเอง ต้องการจับกับกระแสกาแฟสำเร็จรูปพร้อมดื่ม ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มของธุรกิจกาแฟที่มีการเติบโตด้วยเช่นกัน

เช่นเดียวกับ เบอร์เกอร์คิง ที่หันมานำเสนอบริการแบบใหม่ เพื่อขยายฐานคอกาแฟ โดยทาง เบอร์เกอร์คิง ฟาสต์ฟู้ดระดับโลก ได้หยิบเอาระบบสมาชิก (Subscription) มาใช้กับธุรกิจ โดยลูกค้าจ่ายเพียงแค่ 5 เหรียญสหรัฐต่อเดือน ก็สามารถดื่มกาแฟได้ทุกวันๆ ละแก้ว โดยต้องทำการโหลดแอปพลิเคชัน BK® Café Coffee เพื่อสมัครสมาชิก ทั้งนี้ นอกจากจะทำให้คนหันมาโหลดแอปของทางแบรนด์และแวะเวียนเข้ามาที่ร้านทุกวันแล้ว ยังตอบสนองความต้องการของนักดื่มที่คำนึงถึงความคุ้มค่าในการดื่มกาแฟอีกด้วย

ที่มา : smeone.info

แสดงความคิดเห็น