ขั้นตอนการเริ่มต้น จัดตั้งโรงเรียนสอนดนตรี

ความฝันของใครหลายคนคืออยากจะเปิดโรงเรียนสอนดนตรี เสียงเพลงและเสียงหัวเราะ คือความสุขอย่างหนึ่งที่เราสามารถหาได้บนโลกนี้ การได้อยู่กับช่วงเวลาเหล่านี้ สร้างพลังงานบวกให้ตัวเองและคนที่อยู่รอบข้าง และโรงเรียนสอนดนตรียังเป็นบันไดสู่ความสำเร็จในอาชีพที่ใฝ่ฝันในการเป็น นักร้อง นักดนตรี ของเด็กๆที่พร้อมจะเติบดตไปเป็นคนคุณภาพอีกหลายต่อหลายคน

แต่การจะเริ่มต้นจัดตั้งโรงเรียนสอนดนตรีได้นั้น ผู้ประกอบการจะต้องรู้กระบวนการ การขอจัดตั้งโรงเรียนเสียก่อน เพื่อให้ถูกต้องตามกฏหมายและมีหลักสูตรตามคุณลักษณะที่ตรงตามความต้องการของภาครัฐ

ประเภทโรงเรียนนอกระบบ

1. ประเภทสอนศาสนา จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะการสอนศาสนา
2. ประเภทศิลปะและกีฬา ได้แก่ โรงเรียนที่เปิดสอนศิลปะ, สอนดนตรี, สอนกีฬา เป็นต้น
3. ประเภทวิชาชีพ มีวัตถุประสงค์ให้นักเรียนนำไปประกอบอาชีพได้ ได้แก่ โรงเรียนสอนทำอาหาร, ออกแบบ,เสริมสวย,ตัดเสื้อ เป็นต้น
4. ประเภทกวดวิชา เป็นโรงเรียนที่ตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เสริมความรู้เป็นบางวิชาตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
5. ประเภทสร้างเสริมทักษะชีวิต เป็นโรงเรียนที่ตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์สร้างเสริมความคิด เชาว์ปัญญา และทักษะอื่นๆ

ขั้นตอนการขออนุญาต


1. เตรียมความพร้อม
เรื่องอาคารสถานที่อุปกรณ์ประกอบการเรียนการสอน และ บุคลากร
2. ผู้ขอจัดตั้งยื่นโครงการจัดตั้งโรงเรียนนอกระบบ หลักสูตร และรายละเอียดเกี่ยวกับกิจการโรงเรียน จำนวน 3 ชุด
3. หลักสูตรที่ดำเนินการจัดการเรียนการสอน

-โรงเรียนประเภทกวดวิชา ใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
-กรณีใช้หลักสูตรต้นแบบของ สช. (สามารถขออนุญาตใช้หลักสูตรต้นแบบได้ที่ศธจ.)
-กรณีใช้หลักสูตรของหน่วยงานอื่น/หลักสูตรของโรงเรียนอื่น ที่ได้รับการอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการแล้ว จะต้องมีหนังสืออนุญาตให้ใช้หลักสูตรจากหน่วยงานหรือโรงเรียนนั้นๆ
-กรณีโรงเรียนจัดทำหลักสูตรขึ้นเอง ต้องเขียนหลักสูตรตามรูปแบบที่กำหนด และได้รับการพิจารณาหลักสูตรโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิโดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อนุมัติหลักสูตร

4. ตั้งชื่อโรงเรียนจำนวน 3 ชื่อ โดยใช้อักษรไทยและมีคำว่า“โรงเรียน”นำหน้าชื่อ หากมีชื่อภาษาต่างประเทศประกอบด้วยต้องอ่านแล้วสอดคล้องกับชื่อภาษาไทย
5. ศธจ. ตรวจสอบชื่อโรงเรียนไปยัง สช. กรณีชื่อโรงเรียนผ่าน ศธจ.จะแจ้งให้ผู้ขอจัดตั้งยื่นคำร้อง สช.5 เพื่อขอรับใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียน
7. คณะกรรมการฯ ตรวจอาคาร สถานที่ สื่อ อุปกรณ์การเรียนการสอน เพื่อประกอบการพิจารณา
8. เจ้าหน้าที่สรุปเรื่องเสนอ ศธจ. ออกใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียน

สถานที่ยื่นคำขอ

  • กรุงเทพมหานคร ให้ยื่นที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน
  • จังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาที่โรงเรียนตั้งอยู่

ค่าธรรมเนียม

  • ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนนอกระบบ ฉบับละ 3,๐๐๐ บาท

เอกสารที่ใช้


กรณีผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นบุคคลธรรมดา

  • แบบ สช. ๕ (คำขอรับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนนอกระบบ)
  • รายละเอียดเกี่ยวกับกิจการของโรงเรียนนอกระบบตามที่กำหนด จำนวน 2 ชุด
  • โครงการจัดตั้งโรงเรียนนอกระบบ จำนวน 2 ชุด
  • หนังสือแจ้งการอนุมัติให้ใช้หลักสูตรจากกระทรวงศึกษาธิการ หรือหนังสือ
  • ยินยอมให้ใช้หลักสูตรจากหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่ได้รับอนุมัติให้ใช้หลักสูตรจากกระทรวงศึกษาธิการ
  • สำเนาหนังสือสำคัญแสดงการเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน หรือสำเนาสัญญาเช่าอาคารไม่น้อยกว่า 3 ปี 
  • สำเนาใบรับรองการก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือเคลื่อนย้ายอาคาร สำเนาใบอนุญาตเปลี่ยนการใช้อาคารที่ใช้จัดตั้งโรงเรียนนอกระบบ
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรอื่นที่ใช้แทนบัตรประจำตัวประชาชน
  • สำเนาทะเบียนบ้าน
  • หลักฐานการสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี
  • รูปถ่าย จำนวน2 รูป

กรณีผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นนิติบุคคล

  • แบบ สช. ๕ (คำขอรับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนนอกระบบ)
  • รายละเอียดเกี่ยวกับกิจการของโรงเรียนนอกระบบ จำนวน ๒ ชุด
  • โครงการจัดตั้งโรงเรียนนอกระบบ จำนวน ๒ ชุด
  • หนังสือแจ้งการอนุมัติให้ใช้หลักสูตรจากกระทรวงศึกษาธิการ 
  • สำเนาหนังสือสำคัญแสดงการเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน หรือสำเนาสัญญาเช่าอาคารไม่น้อยกว่า 3 ปี
  • สำเนาใบรับรองการก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือเคลื่อนย้ายอาคาร 
  • ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนของนิติบุคคล พร้อมวัตถุประสงค์
  • สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น
  • รายชื่อและสัญชาติของสมาชิกทุกคน 
  • หนังสือมอบอำนาจของผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคลให้เป็นผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคล
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคล
  • สำเนาทะเบียนบ้าน ของผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคล
  • สำเนาหลักฐานการสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี

หมานเหตุ : ผู้ประกอบการสามารถขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน หรือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาที่โรงเรียนตั้งอยู่

แสดงความคิดเห็น