ทําแซนวิชขาย 10 บาท งบ 500 บาท ต้องทำอย่างไร? ลงทุนเท่าไหร่?

หนึ่งในอาชีพที่ยังคงเป็นที่นิยมกันอยู่ก็คือการทำแซนวิชขาย เนื่องจากแซนวิชนั้นเป็นเมนูที่สามารถรับประทานได้ทุกเพศทุกวัย อีกทั้งยังมีการปรับปรุงพัฒนาไปตามยุคตามสมัย ทำให้เมนูแซนวิชนั้นไม่ใช่เมนูที่ล้าสมัย แต่กลับกันำเป็นเมนูที่ทันสมัยอยู่สมัย เพราะไม่ว่าอะไรที่กำลังฮิตก็สามารถนำมาปรับใส่ลงในแซนวิชได้อย่างลงตัว เช่น แซนวิชคีโต ช่วงที่มีการนิยมรับประทานคีโตกัน แซนวิชเองก็สามารถเป็นอีกหนึ่งเมนูที่สามารถเจาะกลุ่มลูกค้าเข้าไปทำการตลาดในกลุ่มคนที่รับประทานอาหารคีโตได้ เป็นต้น

เช่นเดียวกับแซนวิช 10 บาท ที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในตอนนี้ นั่นก็ด้วยสาเหตุแห่งปัจจัยหลักว่าด้วยเรื่องของราคาสินค้าที่แพงขึ้น ข้าวยากหมากแพง จะหาซื้อของกินราคาหลักสิบ ปัจจุบันแทบหาได้ยาก ถึงจะพอมีอยู่บ้างก็ได้น้อยไม่อิ่มท้อง แต่ด้วยความที่แซนวิชนั้นมีขนมปังเป็นวัตถุดิบหลักจึงทำให้ยังพออิ่มท้องอยู่บ้าง แต่สำหรับเด็กๆอิ่มท้องได้สบายๆ

สำหรับท่านที่กำลังมองหาอาชีพเสริม หรืออาชีพสร้างรายได้อีกช่องทางหนึ่ง และกำลังสนใจที่จะทำแซนวิช 10 บาท เราได้รวบรวมเอาข้อมูลลงทุนเบื้องต้นที่น่าสนใจมาให้ท่านดังนี้

แซนวิซ 10 บาท เป็นยังไง?

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าแซนวิชที่จะขายได้ในราคา 10 บาท นั้น จะเป็นแซนวิชขนาดเล็ก แซนวิชมินิ แซนวิชห่มผ้า เป็นต้น หรือไม่ก็ใช้วัตถุดิบที่มีราคาค่อนข้างถูก เพราะจะต้องควบคุมต้นทุนให้สมดุลกับราคาขาย จะได้ไม่ขาดทุน

แซนวิช 10 บาท มีไส้อะไรบ้าง?

หากจะขายแซนวิชในราคา 10 บาท สามารถทำเป็นไส้อะไรได้บ้าง? เนื่องจากงบประมาณและต้นทุนที่จำกัดดังนั้นไส้ของแซนวิชจึงจะมีประมาณ 1-2 อย่างใน 1 ชิ้น ตัวอย่างเช่น

  • แซนวิชโบราณ
  • แซนวิชหมูหยอง
  • แซนวิชไส้กรอก
  • แซนวิชไส้กรอกโบโลน่า
  • แซนวิชปูอัด
  • แซนวิชฝอยทอง

แซนวิช 10 บาท ต้นทุน ?

งบการลงทุนเบื้องต้นที่ใช้ไม่เกิน 500 บาทในการลงต้นขายแซนวิชเริ่มต้น ซึ่งราคาวัตถุดิบอาจมีการเปลี่ยนแปลง ผู้ประกอบการสามารถเลือกปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม งบดังกล่าวไม่รวมค่าเช่นพื้นที่ ค่าแรง และค่าใช้จ่ายส่วนตัว เช่น ค่าเดินทาง ซึ่งจะเป็นงบประมาณในการซื้อวัตถุดิบ ดังต่อไปนี้

  • ขนมปังแซนวิช ราคาประมาณ 25 – 28 บาท/ปอนด์
  • ไส้กรอก ราคาประมาณ 75 บาท แพ็ค 36 ชิ้น (ราคาที่เจอเป็นยี่ห้อคริสปี้ทอง)
  • โบโลน่า ราคาประมาณ 55 – 65 บาท ขนาดประมาณ 450 กรัม
  • ซอสมะเขือเทศ ราคาประมาณ 25 – 32 บาท ขนาด 1000 กรัม
  • มายองเนส ราคาประมาณ 29 บาท ขนาด 400 กรัม (ราคาที่เจอเป็นยี่ห้อ เพียว มายองเนส)
  • ผักกาดหอม ราคาประมาณ 40 บาท/กิโลกรัม (ซื้อแบบแบ่งขายมาราคาจะถูกลงอีก)
  • ถุงห่อแซนวิช ราคาประมาณ 30 – 35 บาท แพ็ค 50 ใบ
  • ถุงพลาสติก ราคาประมาณ 25 – 30 บาท

แหล่งซื้อวัตถุดิบ

  • แมคโคร ศูนย์รวมสินค้าครบครันราคาถูก มีหลายยี่ห้อให้เลือกซื้อได้ตามความต้องการ เรียกได้ว่าไปที่เดียวได้ของครบ จบ แน่นอน
  • ร้านขายส่งออนไลน์ สินค้าออนไลน์จะมีราคาถูกกว่าราคาหน้าร้านในท้องตลาดดังนั้นหากไม่เร่งรีบ สามารถสั่งซื้อวัตถุดิบ เช่น ขนมปัง ซอส มายองเนส ถุงพลาสติก เป็นต้น จากร้านค้าขายส่งออนไลน์ได้ ซึ่งจะมีหลากหลายแบรนด์หลายยี่ห้อให้เลือก
  • ตลาดสดใกล้บ้าน ตลาดสดในปัจจุบันแม่จะดูเงียบเหงาลงไปบ้างเพราะมีร้านค้าออนไลน์เข้ามาแบ่งพื้นที่การตลาด แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังคงเป็นสถานที่ที่สามารถหาสินค้าอย่าง ร้านขายส่งขนมปังราคาถูก ร้านขายส่งแพคเกจจิ้ง ร้านขายส่งผัดสด ซอสยี่ห้อต่างๆหรือร้านขายส่งไส้กรอก ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่เป็นวัตถุดิบที่สามารถนำมาทำแซนวิชได้

คำแนะนำเพิ่มเติม

  • คำนวนต้นทุนให้รอบคอบ เนื่องจากการจะขายในราคา 10 บาทได้นั้น ต้นทุนคือสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างมากต้องคิดคำนวนให้รอบคอบ การประหยัดต้นทุนสามารถทำได้หลายทาง เช่น หันมาใช้ถุงห่อแซนวิชแทนที่จะใช้กล่องใส่แซนวิช เนื่องจากกล่องแซวิชนั้นมีราคาที่สูงกว่ามาก หรือเลือกวัตถุดิบที่มีราคาถูกหรือไม่จำเป็นต้องเน้นแบรนด์หรือยี่ห้อมากนัก
  • สด สะอาด ปลอดภัย ด้วยความที่เราจะต้องควบคุมราคาต้นทุน ดังนั้นวัตถุดิบจึงมิอาจใช้ของที่มีราคาแพงหรือแบรนด์ดังได้ แต่ทว่าของถูกและดีนั้นก็มีอยู่ เพียงแค่เราต้องดูถี่ถ้วน ดูวันเดือนปีที่หมดอายุของสินค้า ดูว่ามีการแพ็คมาหนาแน่นหรือไม่ เพราะถ้าไม่หนาแน่นอาจมีการปนเปื้อน ซึ่งอาจทำให้รับประทานเข้าไปแล้วอาจท้องเสียหรืออาหารเป็นพิษได้
  • ขายช่วงเช้า แซนวิชนั้นเป็นเมนูที่นิยมรับประทานกันในช่วงเช้าหรือระหว่างวัน ดังนั้นจึงต้องเน้นขายในตอนเช้าของวัน กลุ่มลูกค้าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา คนวัยทำงาน เลือกทำเลขายใกล้โรงเรียน สำนักงาน มหาวิทยาลัย เป็นต้น
  • นำสินค้าไปฝากขาย ในกรณีที่เปิดขายใหม่ๆยังไม่เป็นที่รู้จัก สามารถนำสินค้าไปฝากขายตามร้านที่รับฝากขาย เช่นร้านกาแฟ ร้านขายอาหารเช้า เป็นต้น ราคาก็ตกลงกันกับร้านที่รับฝากอาจจะให้ราคาส่งและร้านบวกราคาเพิ่มเองได้ หรือฝากขายตามร้านค้าชุมชน เช่น สหกรณ์หมู่บ้าน ร้านธงฟ้า ซึ่งร้านเหล่านี้โดยส่วนใหญ่จะให้ประชาชน ลูกบ้าน มาฝากขายสินค้าได้ฟรี
  • รับทำตามออเดอร์ หากทำขายจนเป็นที่ถูกปากแล้วและเริ่มมีลูกค้าประจำแล้วก็หารายได้เสริมจากการขายส่งอีกช่องทางหนึ่ง ให้คนที่สนใจรับไปขายต่อ หรือรับออเดอร์ทำส่งครั้งละมากๆตามที่ลูกค้าออเดอร์มา
  • สร้างช่องทางติดต่อ เช่น Facebook, line เป็นต้น เพื่อใช้ในการติดต่อกับลูกค้า หรือลูกค้าที่สนใจอยากสั่งทำจะได้ติดต่อมายังร้านของเราได้
แสดงความคิดเห็น