เปิดร้านขายยําดีไหม? หนึ่งเมนูสร้างอาชีพที่ไม่ควรมองข้าม แม้ในปัจจุบันจะมีร้านขายยำอยู่เรียงรายเต็มไปหมด โดยร้านยำยอดนิยมเช่น เปิดร้านขายยำทะเล เปิดร้านขายยำมะม่วง เปิดร้านขายยำลูกชิ้น ขายยำปูม้า ขายยำวุ้นเส้น ขายยำแซวมอล แต่พ่อค้าแม่ค้าแต่ละร้านก็มีความเป็นเฉพาะตัวและมีกลยุทธ์ในการหาลูกค้าที่แตกต่างกัน ดังนั้นถึงต่อให้เป็นตลาดที่มีคู่แข่งมาก ทว่าสามารถฉีกรูปแบบสร้างความโดดเด่นและที่สำคัญรสชาติถูกอกถูกใจไม่ว่าจะธุรกิจอาหารประเภทใดก็ยึดพื้นที่ในตลาดได้ไม่ยาก
ขั้นตอนเตรียมตัวก่อนเปิดร้านขายยำ
- กำหนดรูปแบบการขายว่าจะขายยำประเภทไหน ยำทั่วๆไป เช่น ยำรวมมิตร ยำวุ้นเส้น ยำมาม่า ยำมะม่วง หรือยำเฉพาะทางเน้นขายอย่างใดอย่างหนึ่งไปเลย เช่น ยำซีฟู้ดส์ ก็จะมีแต่เมนูยำที่เป็นซีฟู้ดส์ไปเลย
- กำหนดกลุ่มเป้าหมาย ดูกลุ่มเป้าหมายจะต้องสัมพันธ์กับพื้นที่ หากทำเลที่ตั้งเป็นหน้าโรงเรียน มาหาวิทยาลัย กลุ่มลูกค้าก็จะเป็นกลุ่มนักเรียน นักศึกษา วัยรุ่นและผู้ปกครอง
- กำหนดทำเลที่ตั้ง ต้องเป็นสถานที่มีผู้คนพลุกพล่าน อย่าง ตลาดนัด หน้าโรงเรียน หน้าสำนักงาน หน้ามหาวิทยาลัย หอพัก อพาร์ทเม้นต์ เป็นต้น
- กำหนดงบประมาณในการลงทุน รูปแบบร้าน อุปกรณ์ในการขายต่างๆ
- ฝึกฝีมือให้ชำนาญและได้รสชาติที่คงที่
ขั้นตอนการลงทุน เปิดร้านขายยำใช้เงินเท่าไร
ในส่วนนี้จะขอแนะนำการลงทุนแบบประหยัด เปิดร้านตั้งโต๊ะเล็กๆ ขายตามตลาดนัดหรือหน้าโรงเรียน หน้าออฟฟิศ โดยเหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นอาชีพและผู้ที่กำลังมองหาอาชีพเสริมทำขายช่วงวันหยุดหรือหลังเลิกงาน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1. งบการลงทุนร้านขายยำ
งบการลงทุนจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ “ค่าวัตถุดิบ และ ค่าอุปกรณ์” ซึ่งคำนวณจากการขายยำทั่วไป เช่น ยำรวมมิตร ยำมาม่า ยำวุ้นเส้น เป็นต้น ควรใช้เงินไม่เกิน 4,000 บาท
วัตถุดิบจำเป็น อาทิ
- กุ้งสด ปลาหมึกสด หมูสับ ไส้กรอก ลูกชิ้นปลา ปูอัด (ใช้งบประมาณ 500 บาท เฉลี่ยกิโลกรัมละ 85 บาท)
- มาม่า วุ้นเส้น (ใช้งบประมาณ มาม่า 1 ลังมี 30 ซองราคา 200 บาท, วุ้นเส้น 500 กรัม ราคา 80 บาท)
- เครื่องปรุงน้ำยำ เช่น น้ำปลา มะนาว พริกสด พริกป่น น้ำตาลทรายหรือน้ำเชื่อม ต้นหอมผักชี (ใช้งบประมาณส่วนนี้ไม่เกิน 300 บาท)
อุปกรณ์จำเป็น อาทิ
- โต๊ะสี่เหลี่ยมขนาดกลาง ราคาประมาณ 500 บาท
- ถ้วยโฟมขนาด 17 x 6 ซม. แพค 100 ใบ ราคาประมาณ 50 บาท
- ส้อมพลาสติก แพค 100 ใบ ราคาประมาณ 80 บาท
- อุปกรณ์อื่นๆ เช่น ถ้วยสำหรับใส่เครื่องปรุงและของสด ตะกร้าเล็กๆ ผ้าปูโต๊ะ ใช้งบไม่ควรเกิน 200 บาท
จะเห็นว่างบประมาณที่ใช้ทั้ง 2 ส่วนนี้จะอยู่ที่ 1,910 บาท ซึ่งยังเหลือเงินอีกประมาณ 2,090 บาท ผู้ประกอบการสามารถเก็บไว้เป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าเดินทาง ค่าเช่าพื้นที่ขายของ ซึ่งค่าเช่าพื้นที่จะแตกกันไปตั้งแต่วันละ 300 – 500 บาท
2. ทำเลดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
อาหารประเภทยำจะขายดีในกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน ดังที่กล่าวไว้เบื้องต้นว่าให้มองหาทำเลที่ใกล้ย่านชุมชนหรือแหล่งที่ทำงานท่านจะมีโอกาสขายมากขึ้น โดยส่วนมากพ่อค้าแม่ค้าจะเปิดร้านขายยำตลาดนัดใกล้แหล่งชุมชน
3. การตั้งราคาขายยำ
- ราคาประเภทยำใส่ถ้วยโฟมขนาด 17×6 ซม. ควรขายที่ 35 – 40 บาท เป็นราคาที่เหมาะสมสำหรับการขายสารพัดยำทั่วไป
- ส่วนหากมีการสั่งพิเศษหรือสั่งขนาดยักษ์ก็ให้บวกราคาเพิ่มตามราคาวัตถุดิบที่ซื้อมาจริง และแจ้งราคาลูกค้าก่อนเพื่อให้ลูกค้ารับทราบข้อตกลงร่วมกันจะได้ไม่มีปัญหาในภายหลัง
กลยุทธ์การเปิดร้านขายยำ
- ตั้งชื่อร้านให้เก๋ ชื่อร้านมีส่วนสำคัญในการสร้างความจดจำให้แก่ลูกค้า ชื่อจำง่าย สั้นๆ แปลกๆ จะยิ่งทำให้มีความโดดเด่น เช่น ยำจี๊ดจ๊าด ยำปะล่ะ เป็นต้น
- จัดร้านให้เรียบร้อย แยกวัตถุดิบใส่ภาชนะ ให้ง่ายต่อการใช้งานอีกทั้งยังทำให้ร้านดูดี น่าซื้อ
- รักษาความสะอาด ดูแลให้ภาชนะสะอาด ใช้ฝาครอบหม้อสำหรับยำป้องกันแมลงวันตอมหรือฝุ่นลงไป รวมทั้งดูแลความสะอาดรอบๆบริเวนที่ตั้งร้านขาย ไม่ปล่อยให้มีขยะหรือมีน้ำขังส่งกลิ่น และต้องไม่ลืมดูแลตัวเองให้สะอาดสะอ้าน ใส่หมวกกันผมหล่นลงไปในอาหาร ล้างมือให้สะอาดก่อนทำอาหาร
- สร้างจุดเด่นให้ร้าน เช่น อาจจะเพิ่มเมนูพิเศษ เพิ่มขนาด เพิ่มรสเผ็ดหลายระดับ
- แตกไลน์สินค้า ต่อยอดโดยการทำน้ำยำขายสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง
- เพิ่มช่องทางการขายออนไลน์ เข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากขึ้น โดยการสร้าง Fanpage Facebook, หรือ อินสตาร์แกรม เป็นต้น
- ร่วมเป็นร้านในแอพลิเคชั่นสั่งอาหารต่างๆ อาทิ Grab Food, Food Panda, Line Man เป็นต้น
คำแนะนำเพิ่มเติม
- รสชาติที่เสมอต้นเสมอปลายคือ “หัวใจสำคัญของการขายอาหาร” ดังนั้นไม่ว่าจะในช่วงแรกของการขายหรือช่วงที่โด่งดังจนขายดี “ความอร่อย” ไม่ควรลงแต่ควรดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะถึงบริการดี ราคาถูก แต่รสชาติแย่ คนก็ไม่อยากซื้อ
- มีใจรักการขาย ยิ้มแย้ม แจ่มใส คุยสนุก เป็นบุคลิกอันพึงมีของพ่อค้าแม่ค้า ต่อให้ในวันนั้นลูกค้าต้องรอต่อแถวนานแต่การพูดจาถ้อยทีถ้อยอาศัยจะทำให้ลูกค้าสามารถรอได้อย่างเต็มใจ
- มีปัญหาต้องรีบแก้ อุปสรรคมันต้องมีด้วยกันทุกอาชีพ เมื่อเจอปัญหาต้องจัดการโดยทันที เช่น ทำผิดเมนูต้องรีบแก้ไขเปลี่ยนใหม่ หรือลูกค้าเจอสิ่งแปลกปลอมต้องรีบทำให้ใหม่และกล่าวคำขอโทษ แล้วนำไปปรับปรุง
เคล็ดลับ : แจกสูตรน้ำยำรสเด็ด
สูตรน้ำยำที่ 1
วัตถุดิบ
- พริกจินดาแดงซอย
- น้ำตาลปี๊บ ½ ช้อนชา
- น้ำมะนาว 2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ
- นำน้ำตาลปี๊บ น้ำปลาและน้ำมะนาวมาผสมและคนให้น้ำตาลละลาย จากนั้นใส่พริกจินดาแดงซอยลงไปในชามคนให้เข้ากันแล้วนำไปคลุกกับวัตถุดิบอื่นๆ
ตัวอย่างเมนู : ยำวุ้นเส้น ยำหมูยอ ยำเล็บมือนาง ยำเส้นมาม่า เป็นต้น
สูตรน้ำยำที่ 2
วัตถุดิบ
- พริกเผา ½ ช้อนโต๊ะ
- หอมแดงซอย
- ตะไคร้ซอย
- พริกจินดาแดงซอย
- พริกขี้หนูแห้งซอย
- กระเทียมซอย
- น้ำปลา 2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำมะนาว 1 ช้อนโต๊ะ
- น้ำตาลปี๊บ 1 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ
- นำน้ำตาลปี๊บ น้ำปลา พริกเผาและน้ำมะนาว มาผสมแล้วคนให้ละลาย จากนั้นใส่พริกจินดาแดงซอย กระเทียมซอย พริกขี้หนูแห้งซอย หอมแดงซอยและตะไคร้ซอยลงไปแล้วคนให้เข้ากัน
ตัวอย่างเมนู : ยำหอยนางรม ยำหอยแครง เป็นต้น